นับตั้งแต่ พ.ศ. 2493 ที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงอุทิศพระวรกาย และพระราชหฤทัย บำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขทั่วแผ่นดิน ทรงคิดค้นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นจำนวนมาก เพื่อช่วยเหลือเหล่าพสกนิกรให้พ้นจากสภาพความแร้นแค้น ไปสู่การกินดีอยู่ดี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เริ่มเสด็จพระราชดำเนินไปทั่วประเทศ โดยเริ่มต้นที่ภาคกลางใน พ.ศ. 2495 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือใน พ.ศ. 2498 ภาคเหนือใน พ.ศ. 2501 และเสด็จเยี่ยมราษฎรภาคใต้อีกหลายครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2501 จนกล่าวได้ว่า ผืนแผ่นดินไทยทุกตารางนิ้ว ไม่มีที่ใดเลยที่พระองค์มิได้ทรงเหยียบย่างไปถึง
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)ได้รวบรวมจำนวนครั้งที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงงานในช่วง พ.ศ. 2512-2534 พระองค์เสด็จฯ รวม 12,454 ครั้ง รวมระยะทาง 1,217,964.10 กิโลเมตร เป็นการเดินทางโดยรถยนต์ รถไฟ เฮลิคอปเตอร์ เรือ เรือหลวงจันทร เพื่อเข้าถึงพสกนิกรทุกพื้นที่
ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ทรงริเริ่มโครงการต่าง ๆ มากมาย พระองค์ทรงมีพื้นที่ประเทศไทยทุกตารางนิ้วเป็นห้องทรงงาน พสกนิกรจึงมักได้เห็นภาพการทรงงาน โดยประทับอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับพสกนิกรของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นสะพานไม้ หรือภูเขาสูง สมกับที่ทรงได้รับยกย่องว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก
สาธารณสุขและการแพทย์
ในอดีตระบบสาธารณสุขของประเทศไทยอยู่ในสภาพย่ำแย่ ในพื้นที่ห่างไกลประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการสาธารณสุขได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขปัญหาโดยการส่งเสริมสุขภาพประชาชนผ่านมาตรการต่าง ๆ อย่างหลากหลาย ทรงมีพระราชดำริจัดตั้ง “โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน” เพื่อเคลื่อนเข้าหาประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลให้ได้รับการรักษา ทรงส่งเสริมให้ประชาชนได้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการผ่านโครงการพระราชดำริ
นอกจากนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “ทุนอานันทมหิดล” พิจารณาคัดเลือกบัณฑิตแพทย์ที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยมและมีคุณธรรมไปศึกษาต่อในต่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการแพทย์ระยะยาว ในปี 2535 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization –WHO) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองสุขภาพดีถ้วนหน้า อันเนื่องจากแนวพระราชดำริด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ทำให้ประเทศไทยแก้ปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนได้อย่างเหมาะสม
การศึกษา
“ระบบการศึกษาของเราอยู่ในสภาพระส่ำระสายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน” หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เคยเขียนไว้เมื่อระลึกถึงสถานการณ์หลังจบสงครามโลกครั้งที่สอง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทอดพระเนตรเห็นถึงสถานการณ์ดังกล่าว ทรงพระราชทานความช่วยเหลือโดยสนับสนุนให้ก่อตั้งโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาให้กับประเทศ ทรงจัดตั้งโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้ที่ขาดโอกาส อาทิ ทรงจัดตั้งโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เพื่อให้เยาวชนไทยมีสื่อการเรียนรู้ ทรงให้มีการศึกษาด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครูผู้สอน ทรงก่อตั้งมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมขึ้น เพื่อขยายการเรียนการสอนไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ เป็นต้น

การส่งเสริมอาชีพและการดำเนินชีวิต
ในการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎรตามพื้นที่ต่าง ๆ พระองค์ทรงสอบถามความต้องการและปัญหาของพสกนิกรในแต่ละภูมิภาคด้วยพระองค์เอง โครงการพระราชดำริที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้น ล้วนเพื่อช่วยแก้ปัญหาในแต่ละท้องที่ เช่น การแก้ปัญหาภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาการปลูกฝิ่นในภาคเหนือ ปัญหาการได้พืชผลผลิตต่ำในพื้นที่ภาคกลาง และการแก้ปัญหาดินที่ใช้เพาะปลูกไม่ได้ในภาคใต้และภาคอื่น ๆ โดยโครงการที่พระองค์ทรงจัดตั้งขึ้นนั้น ทรงให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตเดิมและสิ่งแวดล้อมในแต่ละชุมชน มุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ อาทิ พระองค์ทำนาข้าวทดลอง เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าว พระราชทานแก่เกษตรกรในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และทรงพระราชทานพระราชดำริให้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำลองพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค ให้เป็นศูนย์บริการสำหรับการพัฒนาเพื่อเกษตรกร ทรงให้จัดตั้งโรงสีข้าวตัวอย่างขึ้นในสวนจิตรลดา ด้วยรูปแบบสหกรณ์ เพื่อให้เกษตรกรนำแนวทางการปฏิบัติงานโรงสีขนาดเล็กจากสวนจิตรลดาไปใช้ ทรงริเริ่ม “โครงการหลวง” เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา ส่งเสริมให้ปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนการปลูกฝิ่น ปัจจุบันศูนย์พัฒนาโครงการหลวงมีทั้งหมด 39 แห่ง ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือ
นอกจากนี้พระองค์ยังพระราชทานแนวทาง “เกษตรทฤษฎีใหม่” และ “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักในการดำเนินชีวิตและพัฒนาประเทศ เพื่อให้คนไทยมีชีวิตพออยู่พอกินและสามารถพึ่งตนเองได้ ซึ่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้รับการเชิดชูสูงสุด จากองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยนายโคฟี อันนัน ในฐานะเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล The Human Development Lifetime Achievement Award แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2548 และยกย่องว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ โดยองค์การสหประชาชาติสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ ยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน
การคมนาคม
โครงการในพระราชดำริด้านคมนาคมส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในชนบท โดยทรงพิจารณาประโยชน์ที่จะเกิดแก่ท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งโครงการในพระราชดำรินั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการนำทรัพยากรออกมาใช้ รับการจราจรและเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และเพื่อเชื่อมชุมชนไปสู่การพัฒนา อันเป็นผลให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอยู่ดีกินดีมากขึ้น นอกจากนี้ขณะที่พระองค์เข้าประทับรักษาพระอาการประชวร เมื่อทรงเห็นวิกฤติการจราจร ยังได้พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหา โดยมีพระราชประสงค์ให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาจราจรร่วมมือกัน สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ทรงห่วงใยประชาชนของพระองค์ในช่วงเวลา
การบริหารทรัพยากรธรรมชาติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงธรรมชาติและสภาวะตามธรรมชาติ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ แนวพระราชดำริเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทั้งเรื่อง “ป่า – น้ำ – ดิน – คน” จึงมีความสอดคล้องเกื้อกูลกัน ระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยยึดหลักสำคัญคือ ความเรียบง่าย สามารถแก้ไขปัญหาจนประโยชน์ได้จริง และพัฒนาไปสู่ ความยั่งยืน โครงการในพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อาทิ โครงการฝนหลวง เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ทรงศึกษาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ พระราชทานพระราชดำริ “แก้มลิง” เพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วม อีกทั้งยังพระราชทานพระราชดำริให้ประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศหรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” เพื่อใช้บำบัดน้ำเสีย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพระราชทานพระราชดำริให้แก้ปัญหาดิน ทั้งดินที่มีแร่ธาตุน้อย ดินเค็ม ดินทรายถูกชะล้างทำลายได้ง่าย ดินเปรี้ยว และพระราชทานแนวทางการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดินให้สามารถเพาะปลูกได้ พร้อมกับการพัฒนาแหล่งน้ำ การฟื้นปูสภาพป่า และการใช้หลักการเกษตรเพื่อวางแผนเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนพระองค์ทรงคิดค้นพลังงานทดแทน เพื่อช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร
7 ทศวรรษที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชย์ พระองค์เสด็จทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย มิใช่เพื่อความเกษมสำราญส่วนพระองค์ แต่พระองค์ทรงอุทิศพระวรกายและความสุขสบายส่วนพระองค์ ความอยู่ดีกินดีของประชาชนไทยล้วนเป็นผลแห่งการทรงงานหนักเพื่อพสกนิกรอย่างแท้จริง
……
ข้อมูล :
- ๘๐ พรรษา ปวงประชาเป็นสุขศานต์ . สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงาน กปร.)
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2540). พระบิดรของแผ่นดิน. กรุงเทพฯ: อักษรสยามการพิมพ์.
- โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.rdpb.go.th/RDPB/front/Projects/RDPBProjectType.aspx?p=60
- ดร.สิรินภา กิจเกื้อกูล. หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง(ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://office.nu.ac.th/edu_teach/
- กังหันน้ำชัยพัฒนา (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.chaipat.or.th/ 30 ตุลาคม 2559
- ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 84 พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
- A Day Bulletin ISSUE 434
ขอบคุณภาพ : คุณนภันต์ เสวิกุล