รู้หรือไม่! เล็บบอกโรค เช็กสุขภาพได้ง่ายๆ ลักษณะของเล็บแบบไหนผิดปกติ สัญญาณขาดสารอาหารอะไรบ้าง เสี่ยงโรคอะไรบ้าง มาดูเลย
ร่างกายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดที่เคยพบมานอกจากจะสามารถขยับตามที่เราสั่งได้แล้ว บางอวัยวะของเราก็ทำงานเองโดยไม่ต้องสั่งเลยทีเดียว วันนี้จะพามาพบอีก 1 ความมหัศจรรย์ก็คือถ้าหากร่างกายเราเกิดความผิดปกติ ขาดสารอาหารชนิดไหน ก็จะปรากฏขึ้นได้ที่เล็บของเรา! แต่เราอาจจะมองข้ามโดยตลอด แล้วเล็บแบบไหนที่ผิดปกติบ้าง มาดูเลย

ลักษณะของเล็บปกติที่มีสุขภาพดี
เล็บที่มีสีออกชมพูจางๆ จากสีผิวของเนื้อข้างใต้เล็บ มีพื้นผิวที่เรียบ ผิวหนังรอบเล็บมีความแข็งแรงไม่ถอยร่น และเล็บมีความหนาไม่มากไปและไม่น้อยจนเกินไป แต่ถ้าแตกต่างจากนี้ เช่น มีภาวะเล็บซีดหรืออื่นๆอาจจะถือว่าเล็บผิดปกติได้
พญ.ชินมนัส ตั้งจาตุรนต์รัศมี สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เล็บที่ผิดปกติ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซี่งอาจจะเกิดจากการติดเชื้อ สารเคมีที่ก่อการระคายเคือง การกระแทก มะเร็ง หรือเกิดจากโรคทางกายอื่นๆ
ลักษณะของเล็บที่ผิดปกติ
1. สังเกตุความหนา-บาง ว่าผิดปกติหรือไม่
- เล็บหนามาก คือเล็บผิดปกติ มีหลายโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคเชื้อรา ที่นอกจากเล็บหนาขึ้นแล้ว เล็บอาจมีสีเปลี่ยนร่วมด้วยเป็นสีเหลืองหรือขาว ผิวเล็บและส่วนปลายเล็บอาจขรุขระ นอกจากนี้ โรคสะเก็ดเงิน ก็อาจจะมีส่วนทำให้เล็บหนาได้ โดยโรคสะเก็ดเงินมักจะมีอาการเล็บหนาหลายเล็บ ตรงข้ามกับโรคเชื้อราที่เป็นเพียงบางเล็บ
- เล็บบางมากกว่าปกติ อาจเกิดจากโรคโลหิตจาง ที่ขาดธาตุเหล็ก เล็บจะมีลักษณะบางและแอ่นคล้ายช้อน รวมถึงในคนสูงอายุอาจมีเล็บที่บางและเปราะแตกง่ายบริเวณปลายเล็บได้
2. เล็บที่มีพื้นผิวขรุขระ
เป็นอาการที่พบได้บ่อย ผิวเล็บอาจเป็นหลุมเล็กๆ ถ้าเป็นหลายเล็บ อาจบ่งบอกถึงโรคสะเก็ดเงิน หรือโรคภูมิแพ้ได้ แต่อาจพบได้ในเด็กบางคนโดยที่ไม่มีสาเหตุ บางกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง อาจพบเล็บเป็นร่องลึกตามแนวขวางจากการที่เล็บมีการสร้างเล็บผิดปกติขณะป่วย
3. ผิวหนังรอบเล็บบวมแดง
ในคนที่สัมผัสกับน้ำบ่อยๆ ผิวหนังรอบเล็บอาจมีการเปื่อยยุ่ย จึงเกิดการระคายเคืองจากสารเคมีได้ง่าย เช่น สารเคมีจากน้ำยาล้างจานและน้ำยาทำความสะอาดบ้าน ในบางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อราตามมาได้ เช่นกัน ในผู้ป่วยบางคนที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนังที่อ่อนแอนี้ ผิวหนังรอบเล็บอาจบวมแดงและมีหนองร่วมด้วย อาการบวมแดงมักเป็นมาไม่นาน ซึ่งต่างจากคนที่มีผิวหนังรอบเล็บบวมจากการระคายเคืองของสารเคมี
4. เล็บเปลี่ยนสี ภาวะโรคทางกายมีผลกับสีของเล็บได้
- เล็บมีสีดำ อาจเป็นเพราะมะเร็งผิวหนัง เชื้อรา การกระแทก ไฝหรืออาจเป็นขึ้นมาเอง กรณีมะเร็งผิวหนังมีข้อสังเกตคือ ลักษณะเล็บที่ดำจะมีลักษณะเป็นปื้นสีดำสีไม่สม่ำเสมอ เป็นแค่เล็บเดียว มีประวัติเป็นมาไม่นาน อาจมีผิวหนังที่โคนเล็บเป็นสีดำร่วมด้วย
- เล็บที่มีสีขาวครึ่งเล็บ พบได้ในคนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง
- เล็บที่มีสีขาวสองในสามของเล็บ พบได้ในคนเป็นโรคเบาหวาน โรคตับแข็งและหัวใจวาย
- เล็บที่มีสีขาวเป็นแถบขวาง อาจเป็นโรคโปรตีนในร่างกายต่ำ (Hypoalbuminemia) เล็บดังกล่าวเมื่อใช้มือกดไปที่เล็บ สีขาวที่เห็นจะจางลง
5. ปลายเล็บร่น (Onycholysis)
ปกติแล้วผิวหนังส่วนปลายจะติดกับเล็บ แต่หากมีโรคบางอย่าง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคไทรอยด์ โรคเชื้อราและโรคผดผื่นผิวหนังอักเสบ รวมถึงยาบางชนิด อาจทำให้ขอบของผิวหนังที่ติดกับเล็บมีการร่นลงได้
ทั้งนี้ถ้าหากลักษณะของเล็บเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ต้องสังเกตว่าเกิดจากสาเหตุไหนและถ้าหากเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายแรงก็ควรไปรับการรักษากับแพทย์อย่างเหมาะสม
แหล่งที่มา rama.mahidol
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY