ทำความรู้จัก โรคอัลไซเมอร์ หรือ โรคสมองเสื่อม โรคคนแก่ ที่ต้องดูแลด้วยความเข้าใจ และผู้ดูแลต้องเข้าใจเพื่อไม่ให้เครียด
โรคที่ถือว่าเป็นโรคยอดฮิตของผู้สูงอายุเลยคือ “โรคอัลไซเมอร์” ที่ทำให้ผู้สูงอายุมีอาการความจำเสื่อม จะอะไรไม่ได้ ถ้าเป็นหนักอาจจะถึงขั้นที่ไม่สามารถทำกิจวัตรตามปกติได้เลย ซึ่งทำให้ผู้ดูแลเกิดความเครียด จนหลายครั้งเรามักจะได้ยินข่าวว่าญาติพี่น้องที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคนี้เกิดความเครียดจนถึงขั้นทำร้ายร่างกายผู้สูงอายุเลยก็มี
เพื่อเป็นการทำความเข้าใจผู้ป่วย “โรคอัลไซเมอร์” รวมถึงทำความเข้าใจกับตัวของผู้ดูแลเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดจนเกิดไป เรามีข้อมูลจาก คุณทิพเนตร งามกาละ ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง ฝ่ายการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาฝากกัน
โรคอัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการสำคัญคือ จะมีความเสื่อมในเรื่องของความจำ, การรับรู้ ความคิด จินตนาการ และการตัดสินใจ ซึ่งอาการแสดงที่เราเห็นคือผู้ป่วยจะมีอาการหลงลืม มีพฤติกรรมและนิสัยเปลี่ยนไป ความผิดปกติเหล่านี้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ทั้งในด้านหน้าที่การงานและสังคม อาการจะดำเนินไปอย่างช้าๆ แต่ค่อยๆมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และเสียชีวิตในที่สุด
โรคอัลไซเมอร์จะพบในผู้สูงอายุ ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะพบอัตราการเป็นโรคมากขึ้น
ช่วงอายุ 65-69 ปี อุบัติการณ์การเกิดผู้ป่วยรายใหม่ 3 : 1000 คน/ปี
ช่วงอายุ 85-89 ปี อุบัติการณ์การเกิดผู้ป่วยรายใหม่ 40 : 1000 คน/ปี

การดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ?
- กระตุ้นให้ผู้ป่วยดูแลตนเองให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การทำความสะอากร่างกาย,การอาบน้ำ จัดเตรียมอุปกรณ์ตามลำดับก่อน-หลัง,กำหนดเวลาอาบน้ำและขับถ่าย ให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันที่เคยทำ สิ่งสำคัญ คือ ถ้าผู้ดูแลไม่ว่าง และเร่งรีบให้ผู้ป่วยทำตามตารางเวลาของเรา จะเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้ป่วย มีความไม่พอใจ,โกรธ หรือเกรี้ยวกราดได้
- พยายามคงความสามารถของผู้ป่วยที่มีอยู่ ชะลอความเสื่อมของสมอง ถ้าเป็นไปได้ควรให้สอดคล้องกับทักษะความสามารถเดิม หรือในระยะเริ่มแรกอาจจัดกิจกรรมให้ผู้ป่วยทำ การใช้ภาพเป็นตัวสื่อ ทายภาพสมาชิกในครอบครัว จัดภาพอัลบั้มของคนในครอบครัว การคิดเลขบวกเลข เล่นเกม เป็นต้น
- จัดการกับพฤติกรรม อารมณ์ต่างๆที่ไม่พึงปรารถนา เช่น ไม่ยอมอาบน้ำ,ปัญหาการกิน การนอน,อารมณ์ฉุนเฉียว ก้าวร้าว เกรี้ยวกราดและอาการทางจิตประสาท,หวางระแวง โดยใช้หลักการ 4 บ.
- การดูแลโรคประจำตัวอื่นๆ ผู้ป่วยที่มีโรคอื่นร่วมด้วย ต้องพยายามควบคุมโรคเหล่านี้ให้ได้ ไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ไม่เช่นนั้น อาจจะทำให้อาการอัลไซเมอร์ของผู้ป่วยแย่ลงได้
- การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การเคาะปอด ดูดเสมหะ การให้ออกซิเจน การเตรียมอาหาร ระวังเรื่องสำลักอาหาร การทำกายภาพบำบัดให้ผู้ป่วย เพื่อป้องกันข้อติดแข็ง ตลอดจนการพลิกตะแคงตัว เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ

สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างก็คือ “ผู้ดูแล” ควรจะใส่ใจในการดูแลตนเองด้วย เพราะการดูแลผู้ป่วยนานๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยอัลไซเมอร์นั้นจะทำให้ผู้ดูแลเกิดความเครียด เพราะฉะนั้นผู้ดูแลเองก็ควรใส่ใจและดูแลตนเอง
ทำความเข้าใจ ผู้ดูแลต้องทำความเข้าใจและยอมรับกับภาวะของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากผู้ป่วยจะมีปัญหาเรื่องความจำ ,การใช้ความคิดด้านต่างๆ ตลอดจนการสูญเสียความสามารถในการแก้ไขปัญหาหรือการควบคุมตนเองของผู้ป่วย ที่สำคัญต้องเข้าใจว่าอาการเหล่านั้นเกิดขึ้นสืบเนื่องจากโรคที่ผู้ป่วยเป็น ไม่ใช่แกล้งทำ
ให้ความรัก เมื่อผู้ดูแลตระหนักว่ายังมีความรักให้กับผู้ป่วยแล้ว ผู้ดูแลก็จะสรรหาวิธีการรักษาการดูแลด้านจิตใจ และอื่นๆ ผู้ดูแลสามารถช่วยเหลือด้านจิตใจของผู้ป่วยได้ โดยการให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ
รู้ขีดจำกัดของตนเอง นอกจากการดูแลผู้ป่วยแล้ว ตัวผู้ดูแลเองก็ควรจะดูแลร่างกายและจิตใจของตนเองด้วย รู้ขีดความอดทน สภาพทางอารมณ์ของตัวเอง เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ตลอดเวลาอาจก่อให้เกิดความเครียดหรือปัญหาด้านอารมณ์ ดังนั้นนอกจากผู้ดูแลจะมีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์แล้ว ต้องดูแลสุขภาพจิตของตนเองด้วย หากรู้สึกเหนื่อยก็ควรหยุดพักให้ผู้อื่นมาดูแลแทน เมื่อสภาพร่างกายและจิตใจพร้อมแล้วก็ค่อยกลับมาทำหน้าที่ผู้ดูแลใหม่
ขอบคุณข้อมูลจาก : คุณทิพเนตร งามกาละ ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง ฝ่ายการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล