อาการหลง ๆ ลืม ๆ ชอบ เช่นลืมของบ่อยครั้ง ลืมง่าย หลงบ่อย หาไม่เจอว่าไปวางไว้ที่ไหน ขี้ลืม แบบไหน? ที่เรียกว่า “อัลไซเมอร์”
หลายๆ คนคงเคยมีอาการหลงๆ ลืมๆ เช่น ลืมของบ่อยครั้ง หาไม่เจอว่าไปวางที่ไหน ถามคำถามซ้ำจำไม่ได้ว่าถามไปแล้ว อาการเหล่านี้มักพบได้ในคนใกล้ตัวที่อยู่ในวัยทำงาน หรือว่าวัยสูงอายุ แล้วเรามักสงสัยว่าเป็นอัลไซเมอร์หรือเปล่า หรือว่าแค่ขี้ลืมเฉยๆ วันนี้ Bright TV จะพามาดูว่า ขี้ลืม แบบไหน? ที่เรียกว่า อัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์ Alzheimer Disease
เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ที่พบได้มากที่สุด ประมาณร้อยละ 50 ถึงร้อยละ 70 ของประชากรที่มีภาวะสมองเสื่อม อายุเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคมากที่สุด ในช่วงอายุ 65 ปี อัตราการเกิดโรคอัลไซเมอร์พบว่ามีร้อยละ 2 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 50 เมื่ออยู่ช่วงอายุ 80 และ 90 ปี ตามลำดับ นอกจากอายุแล้ว เพศยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคพบว่า เพศหญิงเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์มากกว่าเพศชาย และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคอัลไซเมอร์ มีประวัติการบาดเจ็บทางสมอง โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
อาการขี้ลืมเล็กน้อยหรือเป็นโรคอัลไซเมอร์
อายุเพิ่มขึ้นอาจทำให้การจดจำอะไรใหม่ๆ ต้องใช้เวลานานมากขึ้น บางคนอาจจำได้เฉพาะสิ่งที่คุ้นเคย บางคนอาจจะเคยเจอกับเหตุการณ์ลืมแบบนี้ เช่น หากุญแจรถหรือแว่นตาประจำโดยมองไปตำแหน่งที่เคยวางอยู่ไม่เจอแต่ไปเจออยู่อีกที่หนึ่ง หรือการลืมชื่อของเพื่อนคนที่คุณไม่ค่อยได้เอ่ยถึง สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นเพียงแค่อาการขี้ลืมเล็กน้อยมากกว่า แต่สำหรับอาการหลงลืมแบบโรคอัลไซเมอร์นั้นต้องเป็นการลืมที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตหรือก่อให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น มีอาการถามคำถามซ้ำแล้วซ้ำอีก หลงทางในสถานที่คุ้นเคย ปฏิบัติตามคำสั่งไม่ถูก สับสนจำไม่ได้ทั้งคน เวลาและสถานที่ ไม่ใส่ใจดูแลความสะอาดตนเอง ไม่อาบน้ำ และรู้สึกหวาดกลัวตลอดเวลา เป็นต้น
10 สัญญาณเตือนโรคอัลไซเมอร์
- สูญเสียความทรงจำ มีปัญหาความทรงจำที่ส่งผลต่อกิจวัตรประจำวัน
- มีความลำบากในการทำงานที่คุ้นเคย
- มีปัญหาเรื่องการใช้ภาษา คำหรือเรียงประโยคผิด ๆ
- สับสนเรื่องวันเวลาและสถานที่ โดยเฉพาะสถานที่คุ้นเคย
- ไม่สามารถตัดสินใจได้ หรือการตัดสินใจแย่ลง
- มีปัญหาเรื่องการคิดเชิงนามธรรม เช่น การคำนวณตัวเลขง่าย ๆ จัดหมวดหมู่ของวัตถุต่าง ๆ เป็นต้น
- มีปัญหาเรื่องการวางของผิดที่ผิดทาง
- อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงจากเดิม มีอารมณ์เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วแบบไม่มีเหตุผล
- บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงจากเดิม โดยที่เปลี่ยนแปลงไปจนเหมือนคนละคน
- สูญเสียความสามารถในการทำสิ่งใหม่ ๆ ทำสิ่งใหม่ด้วยความยากลำบากมากกว่าเดิม
ทั้งหมดนี้คือ 10 พฤติกรรมอัลไซเมอร์ที่เราสามารถสังเกตได้ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงถึง 4 ด้านด้วยกัน คือ
- ด้านความจำ
- ด้านความคิด
- ด้านคำพูด
- ด้านพฤติกรรมหรือการกระทำ
หากสังเกตแล้วพบว่าพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยกับผู้สูงวัยใกล้ตัว หรือเริ่มส่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนๆ นั้น ก็ควรหาโอกาสพาไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรักษาให้ถูกต้องตามอาการต่อไป เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยผู้ป่วยแล้ว คนที่ดูแลผู้ป่วยจะได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้น
แหล่งที่มา mahidol
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY