เพราะ เด็กเล็ก ลูกน้อย พูดไม่ได้! 6 โรคตาในเด็กเล็กเรื่องไม่เล็ก พ่อแม่ต้องสังเกตและไม่ควรละเลย รีบรักษาเพิ่มโอกาสในการหาย
คุณพ่อคุณแม่เด็กเล็กต้องมั่นสังเกตความผิดปกติ การเจริญเติบโต และพัฒนาการของลูกน้อยที่ควรจะเป็น ยิ่งในเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถสื่อสารได้นั้นยิ่งต้องใส่ใจเป็นพิเศษ การมองเห็นที่ดีส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนและการทำกิจกรรมต่างๆ ของเด็ก คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรเพิกเฉยต่อการดูแลสุขภาพตาของลูก ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคร้ายทางตาที่อาจเกิดขึ้นได้ วันนี้ Bright TV จะพามาดูโรคตาที่อาจเกิดในเด็กเล็กบ้าง

6 โรคตาในเด็กเล็กที่ควรระวัง
โรคจอตาในเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด
- หลอดเลือดที่มาหล่อเลี้ยงจอตายังมีการพัฒนาที่ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เด็กอาจสูญเสียการมองเห็นได้
โรคสายตาขี้เกียจ
- เกิดจากการมองเห็นที่ไม่ดีในตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ส่งผลให้ตาข้างนั้น ไม่ได้รับการพัฒนาการมองเห็นชัดและมองเห็นไม่ชัดในช่วงอายุ 7 ปีแรก ซึ่งเป็นช่วงที่มีพัฒนาการของการมองเห็น ส่งผลให้การรับภาพโดยสมองจากตาข้างดังกล่าวลดน้อยลง และทำให้ตาข้างนั้นมีระดับการมองเห็นลดลง ซึ่งถ้าไม่ได้รับการแก้ไข อาจส่งผลให้มีการมองเห็นลดลงอย่างถาวรได้
โรคมะเร็งจอตาในเด็ก
- มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีเกิดจากความผิดปกติของยีนหรือพันธุกรรม หากพ่อแม่ป่วยเป็นโรคมะเร็งจอประสาทตาอาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมสู่เด็กได้ อาการที่อาจจะพบได้คือตาเหล่ ตาโปน ปวดตา ตาวาว เกิดจากแสงที่สะท้อนจากตัวก้อนมะเร็ง
ภาวะหนังตาตกแต่กำเนิด
- อาจทำให้เกิดกาวะสายตาเอียง และอาจทำให้เด็กต้องเงยหน้ามองเพื่อให้สามารถมองเห็นได้ ในกรณีที่บังการมองเห็นมากสามารถทำให้เกิดภาวะสายตาขี้เกียจได้ อาจเกี่ยวข้องกับโรคพันธุกรรมในกรณีที่พบในครอบครัวเดียวกัน และอาจเกิดขึ้นเดี่ยวๆ หรือร่วมกับลักษณะอื่นเป็นกลุ่มอาการโรค เช่น blepharophimosis syndrome บางคนอาจเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อตา เช่น เส้นประสาทสมองคู่ที่ 3 โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงไมแอสทีเนีย เกรวิส (myasthenia gravis) หรือจากการมีก้อนเนื้อผิดปกติบริเวณเบ้าตาหรือเปลือกตาและทำให้หนังตาตกตามมา เช่น มะเร็งต่อมหมวกไตในเด็ก มะเร็งดวงตา
โรคต้อกระจกในเด็ก
- เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาการนำที่สามารถสังเกตได้ คือ รูม่านตาเด็กเป็นสีขาว ถ้าพบลักษณะนี้ให้รีบนำเด็กพบจักษแพทย์โด้ยเร็วที่สุด
โรคต้อหินแต่กำเนิด
- เป็นโรคที่มีความดันตาสูง สงสัยในเด็กแรกเกิดที่มีตาดำขนาดใหญ่ และมีอาการบีบตา และน้ำตาไหลผิดปกติ อาจส่งผลให้ตาบอดได้
ความผิดปกติในการมองเห็นของเด็ก ในช่วงอายุแรกเกิดจนถึง 8 ปี จะมีผลต่อพัฒนาการด้านการมองเห็นไปตลอดชีวิตเมื่อผู้ปกครองสังเกตพบความผิดปกติ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยเร็วที่สุด
แหล่งที่มา chulalongkornhospital
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY