สายดื่ม สายปาร์ตี้ เช็กอาการ! โรคร้ายแรง ไขมันพอกตับ นำไปสู่ภาวะตับแข็ง มะเร็งตับได้ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ
โรคที่หลายๆ คนคงเคยได้ยินชื่อมาแล้ว โรคไขมันพอกตับ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่สามารถนำไปสู่ภาวะตับแข็ง หรือมะเร็งตับได้ มักตรวจพบจากค่าการทำงานของตับ หรือระดับเอนไซม์ตับที่สูงขึ้นจากการตรวจสุขภาพ หรือจากการตรวจเลือดเพื่อหาภาวะอื่นๆ แล้วนอกจากนี้จะมีอาการอะไรบ้างมาดูเลย
ไขมันพอกตับ
ไขมันพอกตับ คือภาวะการสะสมไขมันในตับที่มากเกินไป คือ มากกว่า 5% ของน้ำหนักตับ จะทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งนำไปสู่การเกิดตับอักเสบ ตับแข็งและมะเร็งตับได้ในที่สุด
ปกติร่างกายใช้ไขมันเป็นแหล่งพลังงาน ซึ่งมาจาก 2 แหล่งใหญ่ๆ คือหน้าท้องและตับ ไขมันที่ตับนับเป็นแหล่งพลังงานใหญ่ที่สุด หากเกิดการสะสมของไขมันที่ตับมากๆ จะส่งผลให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เป็นโรคตับแข็ง และมะเร็งตับ ได้ในที่สุด

ไขมันพอกตับ แบ่งได้เป็น 4 ระยะ
- ระยะที่ 1 เป็นระยะการสะสมไขมันในตับ ยังไม่มีอาการหรือการอักเสบเกิดขึ้นในตับ มักตรวจพบโดยบังเอิญ หรือจากการตรวจสุขภาพ
- ระยะที่ 2 เป็นระยะที่มีการอักเสบของตับ เซลล์ตับได้รับความเสียหาย ค่าการทำงานของตับจากผลเลือดผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังและมีพังผืดเกิดขึ้นได้
- ระยะที่ 3 เป็นระยะที่มีพังผืดภายในเนื้อตับและเส้นเลือดในตับ ในระยะนี้ตับยังสามารถทำงานได้ปกติ หากได้รับการรักษาที่สาเหตุ ก็จะสามารถหยุดการดำเนินโรคต่อไปได้
- ระยะที่ 4 เป็นระยะตับแข็ง เนื่องจากตับได้รับความเสียหายถาวร เกิดเป็นพังผืดทั่วทั้งตับและกลายเป็นตับแข็ง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะตับวายและมะเร็งตับได้
อาการของโรคไขมันพอกตับ
ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับมักไม่มีอาการทางร่างกาย หรือหากมีอาการก็อาจเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น
- อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้เล็กน้อย
- รู้สึกปวดใต้ชายโครงขวา
ดังนั้นการตรวจพบโรคไขมันพอกตับส่วนใหญ่จึงมักพบจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือ พบค่าการทำงานของตับผิดปกติ หรือ ตรวจพบจากการตรวจทางการแพทย์ด้วยสาเหตุอื่น ผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับมักไม่มีอาการจนกว่าโรคจะลุกลามเป็นตับแข็งหรือมีอาการ ดังนี้
- ปวดท้องหรือรู้สึกอิ่มที่ด้านขวาบนของช่องท้อง
- คลื่นไส้ เบื่ออาหาร หรือน้ำหนักลด
- ผิวเหลืองและตาขาว (ดีซ่าน)
- ท้องและขาบวม (บวมน้ำ)
- รู้สึกเหนื่อยล้าหรือสับสน
สาเหตุของโรคไขมันพอกตับ
- ไขมันพอกตับที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol fatty liver disease) เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก (การดื่มในระดับมาตรฐานหมายถึงการดื่มไวน์วันละ 1 แก้ว สำหรับผู้หญิงและไม่เกิน 2 แก้วต่อวันสำหรับผู้ชาย) ในสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยไขมันพอกตับจากการดื่มประมาณ 5%
- ไขมันพอกตับที่ไม่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ Non-alcohol related fatty liver disease (NAFLD) (Non-alcoholic fatty liver disease; NAFLD) เกิดขึ้นในผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะนี้ส่งผลต่อผู้ใหญ่ 1 ใน 3 คนและเด็ก 1 ใน 10 คนในสหรัฐอเมริกาพบอุบัติการณ์ในผู้ใหญ่ประมาณ 25-30% ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งหมด และในเด็กประมาณ 10%
- กลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome) ซึ่งประกอบไปด้วยรอบเอวที่เกิน 90 ซม. ในผู้หญิง และ 100 ซม. ในผู้ชาย ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงมากกว่าหรือเท่ากับ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับไขมันดี แอชดีแอลน้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในเพศชาย และน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในเพศหญิง และน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่า 110 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- โรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคไขมันสูง
- การรับประทานอาหารที่มีพลังงานสูงเป็นประจำ เช่น ไขมัน น้ำตาล แป้ง
- สตรีวัยหมดประจำเดือน
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัด ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยาต้านไวรัสบางชนิด
การรักษาโรคไขมันพอกตับ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
- ควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หากมีน้ำหนักตัวมาก ควรลดน้ำหนักลง 7-10% โดยให้ค่อยๆ
- ลดน้ำหนักลง เนื่องจากการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วอาจทำให้โรคไขมันพอกตับแย่ลงได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 150-200 นาทีต่อสัปดาห์ทั้งแบบแอโรบิค และแบบมีแรงต้าน
- ควบคุมอาหาร โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีพลังงานสูงหรือน้ำตาลสูง เช่น อาหารประเภททอด เนื้อติดมัน ผลไม้ที่มีรสหวานและน้ำผลไม้ต่างๆ ขนมต่างๆ ให้รับประมาณที่มีกากใยสูง และพลังงานต่ำ เช่น ผักต่างๆ
- หากเป็นเบาหวาน หรือ ไขมันในเลือดสูง ควรควบคุมโรคให้ดี ด้วยการรับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือ สมุนไพรที่นอกเหนือจากแพทย์สั่ง
- ในรายที่มีค่าการทำงานของตับผิดปกติ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยยาเพื่อทำให้ผลเลือดกลับมาปกติได้ อย่างไรก็ตามยาเหล่านี้ยังไม่มีข้อมูลที่สามารถลดไขมันพอกตับได้ดี
การตรวจพบโรคไขมันพอกตับจึงมักพบเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจทางการแพทย์ด้วยเหตุผลอื่นๆ ซึ่งในบางรายอาจมีภาวะไขมันพอกตับมานานแล้วก็อาจตรวจพบในระยะตับแข็งไปแล้ว ดังนั้นหากพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ควรตรวจสุขภาพอยู่เป็นประจำและใส่ใจสุขภาพมากขึ้นเพื่อลดโอกาสการเป็นไขมันพอกตับ
แหล่งที่มา samitivejhospitals
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY