เขาว่ากันว่า “ฟลูออไรด์” ทำให้ฟันแข็งแรง ถ้าอย่างนั้นยิ่งเสริมฟลูออไรด์เยอะ ๆ ก็น่าจะยิ่งดีกับสุขภาพช่องปากใช่หรือไม่
ฟลูออไรด์เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่ง ที่พบได้ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมีทั่ว ไปในดิน น้ำ หินแร่และในอาหารบางชนิด โดยเฉพาะอาหารทะเลและในพืชผักบางชนิด เช่น ใบชา ตลอดจนมีการผลิตขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ในยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก นม เกลือ รวมทั้งวัสดุทางทันตกรรมบางชนิด
ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ได้จัดทำแนวทางการใช้ฟลูออไรด์ในทางทันตกรรม พ.ศ. 2566 โดยแนะนำให้ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ได้ตั้งแต่ความเข้ม ข้น 1000 ppm ขึ้นไป
- ในเด็กที่มีฟันซี่แรกขึ้นถึงอายุต่ำกว่า 3 ปี ใช้ในปริมาณแตะขนแปรงพอเปียกหรือเท่าเมล็ดข้าวสาร
- อายุ 3 ปี – อายุต่ำกว่า 6 ปีใช้ปริมาณเท่ากับความกว้างของแปรง
- อายุ 6 ปีขึ้นไปใช้ปริมาณเท่ากับความยาวของแปรง ด้วยความเข้มข้น 1500 ppm

หากรับฟลูออไรด์ที่มากเกินไปจะส่งผลต่อร่ายกายได้ 2 ลักษณะ คือแบบเฉียบพลัน เกิดได้จากการได้รับฟลูออไรด์ปริมาณเกิน 5 มิลลิกรัมฟลูออไรด์ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในครั้งเดียว จะมีอาการตั้งแต่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย อีกแบบหนึ่งคือแบบเรื้อรัง เกิดจากการได้รับฟลูออไรด์ในแต่ละวันเกิน 0.1 มิลลิกรัมฟลูออไรด์ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาการที่พบได้บ่อยคือ ฟันตกกระ

เมื่อเกิดฟันตกกระ วิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง หากเป็นเพียงเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องรักษา และอาจดีขึ้นได้เองตามธรรมชาติ แต่หากเป็นระดับปานกลาง อาจใช้การขัดฟันร่วมกับการฟอกสีฟัน หรือใช้เรซินเคลือบลงไปให้ผิวฟันดูขาวสม่ำเสมอ หรือการบูรณะฟันเฉพาะจุด หากเป็นรุนแรง กระจายทั่วบริเวณฟัน ทันตแพทย์อาจแนะนำการรักษาด้วยวีเนียร์ หรือแปะเคลือบผิวฟัน

แต่ในกรณีที่ฟันตกกระรุนแรงมาก มีการสูญเสียโครงสร้างฟันไปมาก ทันตแพทย์อาจแนะนำการรักษาด้วยการใส่ครอบฟันเพื่อทดแทนเนื้อฟันแท้ที่สูญเสียไป ติดตามเรื่องราวและข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ฟลูออไรด์ ได้ใน รายการ Fact For Fun จริง สนุก กับสุขภาพช่องปาก ทุกวัน เสาร์ – อาทิตย์ เวลา 8.20 น. ทาง PPTV HD ช่อง 36