ระวัง! ภาวะอันตราย ที่ทำให้เราอาจจะต้องเสียอวัยวะสำคัญไป ภาวะเนื้อตายเน่า มือ เท้า เปลี่ยนเป็นสีดำ เกิดจากสาเหตุอะไร? มาดูเลย
Gangrene หรือ เนื้อตายเน่า เป็นภาวะอันตรายและน่ากลัว ซึ่งอาการที่เห็นอย่างชัดก็คือ อวัยวะส่วนปลายอย่าง มือเท้าเปลี่ยนเป็นสีดำ เกิดจากที่เนื้อเยื่อบางส่วนของร่างกายตายจนทำให้เกิดการเน่า โดยอาจมีอาการบวมหรือเกิดเป็นตุ่มพองขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงของสีผิวในบริเวณนั้น ภาวะนี้เกิดจากเนื้อเยื่อขาดเลือด หรือได้รับเลือดจากระบบไหลเวียนเลือดไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นผลมาจากการบาดเจ็บหรือการติดเชื้อแบคทีเรีย แล้วจะมีสาเหตุจากอะไรบ้างมาดูเลย

สาเหตุของเนื้อตายเน่า
สาเหตุที่สำคัญของ Gangrene คือ การขาดเลือด เนื่องจากเลือดมีหน้าที่สำคัญในการขนส่งออกซิเจนและสารอาหารไปยังเซลล์ต่าง ๆ ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันด้วย หากเลือดไม่สามารถเดินทางไปยังบริเวณใดของร่างกายได้ เซลล์ในบริเวณนั้นจะไม่สามารถอยู่รอดได้ ซึ่งการบาดเจ็บและบาดแผลต่าง ๆ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ ทั้งยังง่ายต่อการติดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สามารถทำให้เกิดภาวะนี้ได้ เช่น โรคบางชนิดก็อาจทำให้เกิด Gangrene ได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ โรคหลอดเลือดหดตัวเรเนาด์ โรคอ้วน การเกิดลิ่มเลือด ไส้ติ่งอักเสบ ไส้เลื่อน ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ การติดเชื้อ HIV และโรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า ซึ่งเป็นภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่สามารถปล่อยสารพิษทำลายเนื้อเยื่อผิวหนังและกล้ามเนื้อจนส่งผลให้เนื้อเยื่อตายและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เป็นต้น
อาการของเนื้อตายเน่า
โดยทั่วไป Gangrene มักทำให้เกิดอาการบวม มีตุ่มน้ำพองขึ้นบนผิวหนังบริเวณที่ได้รับผลกระทบ มีกลิ่นเหม็นโชยออกมา รวมทั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงของสีผิวในบริเวณนั้น โดยผิวหนังจะบาง มันวาว ไม่มีขนขึ้น ซึ่งจะทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างผิวหนังบริเวณที่มีสุขภาพดีกับบริเวณที่เกิดความเสียหายได้อย่างชัดเจน และผู้ป่วยจะรู้สึกเย็นเมื่อสัมผัสโดน ในบางกรณีก็อาจมีอาการปวดอย่างฉับพลันรุนแรง และอาจมีอาการชาเกิดขึ้นตามมาด้วย
ประเภทของเนื้อตายเน่า
- Dry Gangrene เกิดจากการไหลเวียนของเลือดที่ไม่ดีหรือถูกปิดกั้น พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยโรคหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคภูมิคุ้มกันต้านตัวเอง โดยมักเกิดบริเวณมือและเท้า แม้มักไม่ค่อยพบการติดเชื้อ Gangrene ชนิดนี้ แต่ก็อาจนำไปสู่ Wet Gangrene ได้เช่นกัน
- Wet Gangrene เกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อติดเชื้อจากแบคทีเรียบางชนิด ซึ่งมักเป็นผลจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น มีแผลจากการถูกไฟไหม้ หรือเกิดการบาดเจ็บตามร่างกาย เป็นต้น เมื่อเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปยังบริเวณดังกล่าวได้ จึงส่งผลให้เนื้อเยื่อส่วนนั้นตาย เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซึ่งแพร่กระจายไปทั่วร่างกายได้อย่างรวดเร็ว และอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
- Gas Gangrene เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ (Clostridium Perfringens) ซึ่งทำให้เกิดสารพิษที่ปล่อยแก๊สออกมาได้ แม้จะไม่ค่อยพบ Gangrene ประเภทนี้มากนัก แต่ก็มีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน
- Internal Gangrene เกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะภายในถูกปิดกั้น โดยมักพบในอวัยวะ เช่น ไส้ติ่ง ถุงน้ำดี และลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
- Fournier’s Gangrene เกิดจากการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธ์ุ โดยมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การป้องกันเนื้อตายเน่า
- ระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจทำให้เกิดบาดแผล เพราะอาจเกิดผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิตและทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาได้
- หากเกิดบาดแผลขึ้น ควรล้างแผลให้สะอาดด้วยสบู่อ่อน และหมั่นดูแลให้แผลแห้งจนกว่าจะหายดี
- ระมัดระวังเมื่อต้องอยู่ในอุณหภูมิที่หนาวเย็น เพราะอากาศที่เย็นจัดสามารถทำลายเนื้อเยื่อได้
- ลดหรือควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดีเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนโลหิต
- สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งหมั่นตรวจมือและเท้าอยู่เสมอว่ามีอาการที่เป็นสัญญาณบ่งบอกภาวะ Gangrene หรือไม่
- รีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีสัญญาณอาการของภาวะนี้ เพราะหากรีบรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
แหล่งที่มา pobpad
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY