เชื้อไวรัส HPV ตัวร้าย สาเหตุหลักของการเกิดโรค หูดหงอนไก่ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่อาจทำลายชีวิตคู่ของคุณได้
ในปัจจุบันเรื่องเพศสัมพันธ์ หรือการพูดคุยให้ความรู้เรื่อง sex กลายเป็นเรื่องปกติ และเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก หนึ่งในความรู้ที่วันนี้ ไบรท์ทูเดย์ (Bright Today) อยากนำมาแบ่งปันทุกๆคนนั่นก็คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะ เอดส์ , หนองใน , ซิฟิลิส , เริม และ หูดหงอนไก่ ไม่ว่าเพศไหนก็มีโอกาสติดเชื้อได้ ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว และเป็นเรื่องที่ต้องระวังอย่างมาก ซึ่งปัญหาของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจทำลายชีวิตคู่ของคุณได้ เพราะฉนั้นเราควรใส่ใจกับเรื่องนี้ และในขณะนี้ หูดหงอนไก่ กำลังเป็นที่ให้ความสนใจในโลกโซเชียล ได้มีการแชร์ประสบการณ์มากมายเกี่ยวกับการเป็น หูดหงอนไก่ เราไปทำความรู้จักกับโรคนี้กันเลยค่ะ
หูดหงอนไก่ คืออะไร
หูดหงอนไก่ (Condyloma acuminatum) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากเชื้อไวรัสฮิวแมนแปปิโลมาไวรัส หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ HPV ชนิดที่ทำให้เกิดหูด ได้แก่ สายพันธุ์ 6, 11 ลักษณะของ หูดหงอนไก่ คือ มีตุ่ม หรือก้อนติ่งเนื้อ รูปร่างคล้ายดอกกะหล่ำ สามารถขยายจำนวนได้ดีในที่อับชื้น ที่ร้อนชื้น หรือในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

โดยบริเวณที่มักพบ หูดหงอนไก่
- เยื่อบุผิวหนังอวัยวะเพศชาย หรืออวัยวะเพศหญิง
- ใต้หนังหุ้มปลายองคชาต หนังหุ้มองคชาต หนังหุ้มอัณฑะ
- ปาก ริมฝีปาก คอหอย
- ปากมดลูก ภายในช่องคลอด
- ท่อปัสสาวะ
- รอบทวารหนัก ฝีเย็บ
- ขาหนีบ
- ลำไส้ตรง หรือลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย
- รอบปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด
- แคมเล็ก หรือแคมใน (Labia minora)
- แคมใหญ่ หรือแคมนอก (Labia minora)
หูดหงอนไก่ ติดต่อได้อย่างไร
สามารถติดต่อกันได้หลายวิธี ทั้งทางสัมผัส , ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ , มีเพศสัมพันธ์ , การทำออรัลเซ็กส์ , การคลอดบุตรผ่านทางช่องคลอง , การเข้าห้องน้ำสาธารณะที่ไม่สะอาดและมีเชื้อ HPV ติดอยู่ หรือแม้กระทั้งการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ลิปสติก ผ้าเช็ดตัว สบู่ มีดโกน หรือ อุปกรณ์ของเล่นสำหรับมีเพศสัมพันธ์

หูดหงอนไก่ มีอาการอย่างไร
อาการเบื้องต้นผู้ที่ให้เชื้ออาจจะไม่มีอาการอะไรเลย และผู้รับเชื้ออาจจะไม่มีอาการอะไรเลย กว่าจะเกิดอาการนานเป็นปี มีระยะฟักตัว (Incubation period) ประมาณ 1-6 เดือน
- ติ่งเนื้อผิวเรียบ หรือผิวขรุขระนูนยื่นออกจากผิวหนังเป็นหยัก ๆ หรือเป็นตะปุ่มตะป่ำ สามารถเป็นได้ทั้งก้อนเนื้อขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ไม่เท่ากัน
- สีก้อนเนื้อเป็นสีขาว สีเนื้อ สีชมพู หรือสีแดง
- ตุ่มเนื้อ ติ่งเนื้อ หรือก้อนเนื้อตุ่มเดียว หรือหลาย ๆ ตุ่มขึ้นเป็นกระจุกรวมกัน
- มีอาการคัน แสบร้อน รู้สึกไม่สบายตัวอย่างมากหรือเจ็บบริเวณที่เป็นหูดหงอนไก่
- มีเลือดออกที่ติ่งเนื้อ หรือไหลออกทางช่องคลอด โดยเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์
วิธีการรักษา หูดหงอนไก่
แพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาหลายวิธีเพื่อให้ได้ผลดีในการรักษา เช่น วิธีการให้ยาทาภายนอก วิธีการผ่าตัด หรือวิธีการรักษาอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้หูดหงอนไก่ขยายใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตามเชื้อไวรัส HPV จะคงอยู่ในร่างกายตลอดไปโดยไม่แสดงอาการใด ๆ และมีโอกาสกลับมาเป็นโรคซ้ำ เมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ
- การรักษาโดยการทายา (Topical medications) โดยแพทย์จะทำการนัดทายาที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละครั้ง ทุกสัปดาห์ เป็นการทายาทั้งภายนอกและอวัยวะภายในที่เป็นหูด โดยยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์โรคหูดหงอนไก่ ทำให้เซลล์เสื่อมสภาพและหลุดออกไป เช่น ยาอิมิควิโมด 5% (5% Imiquimod) ยาโพโดฟิลอก 5% (0.5% Podofilox) หรือ สารละลายกรดไตรคลอโรอะเซติกเข้มข้น 80-90 % (80-90 % Trichloroacetic acid) ทั้งนี้เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ดี แพทย์จะขอให้ปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนทายา เพื่อป้องกันไม่ให้บริเวณที่ทายาโดนน้ำอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง
- การผ่าตัดชิ้นเนื้อออก (Surgical excision) แพทย์จะพิจารณาทำการรักษาโดยการผ่าตัด โดยเฉพาะหูดหงอนไก่ที่มีขนาดใหญ่ หรือในผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา การตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ หรือคุณแม่ที่เป็นหูดหงอนไก่ที่กำลังจะคลอดบุตร แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดคลอดเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก
- การจี้ร้อนด้วยไฟฟ้า (Electrocautery) เป็นการรักษาด้วยการจี้หูดด้วยความร้อนสูง เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อที่เติบโตผิดปกติ
- การจี้เย็นด้วยไนโตรเจนเหลว (Liquid nitrogen cryotherapy) เพื่อยับยั้งการเติบโตของหูด ช่วยให้ผิวฟื้นตัว และให้รอยโรคหลุดไป
- การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser treatments) โดยแพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยวิธีการนี้กับหูดหงอนไก่ที่มีลักษณะขึ้นเป็นวงกว้างและรักษาได้ยาก
หูดหงอนไก่ เกิดซ้ำได้หรือไม่?
หูดหงอนไก่ เมื่อหายดีแล้วสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ร้อยละ 70 ในระยะเวลา 6 เดือนหลังพบแพทย์ครั้งแรก โดยการเกิดโรคซ้ำอาจมีสาเหตุมาจากการใช้ยารักษาโรคที่ไม่มีประสิทธิภาพ การติดเชื้อโรคซ้ำจากการมีเพศสัมพันธ์ การเกิดรอยโรคจากเชื้อไวรัส HPV ที่แฝงในร่างกายจากภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ หรือโรคบางโรค เช่น โรคมะเร็ง หรือโรคเอดส์
วิธีการป้องกัน หูดหงอนไก่
วิธีการป้องกันหูดหงอนไก่ที่ดีที่สุดคือ การรับการฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ทั้ง 9 สายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์ที่ 6 และ 11 ที่เป็นสาเหตุของโรคหูดหงอนไก่ โดยสามารถฉีดได้ทั้งเพศหญิง และเพศชาย และสามารถฉีดได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 11-12 ปีขึ้นไป หรืออาจเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบทั้งเพศชายและหญิง
นอกจากนี้ควรตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น และที่สำคัญคือ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
ที่มา โรงพยาบาลเมดพาร์ค , คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY