วัยรุ่นยุคใหม่ขาดไม่ได้เลยต้องติดตัวตลอด ขาดเธอไม่ได้หัวใจของสารภาพ! “โนโมโฟเบีย” โรคกลัวการขาดมือถือ อาการเป็นยังไงเช็กเลย
ทุกวันนี้อะไรที่สำคัญมักจะต้องอยู่ในโทรศัพท์ตลอด ก็เลยเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ กลายเป็นอุปกรณ์ในการสื่อสารที่หลายคนในยุคนี้ต้องมีติดตัวไว้อยู่เสมอในการดำเนินชีวิตประจำวัน จนหลายคนอาจจะเป็นโรค โนโมโฟเบีย หรือ โรคกลัวการขาดมือถือ มาเช็กอาการกันเลยว่าเราเข้าข่ายหรือเปล่านะ

พฤติกรรมที่เข้าข่ายอาการ โนโมโฟเบีย คือ
- พกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา ต้องคอยคลำกระเป๋ากางเกงหรือกระโปรงตลอดว่าโทรศัพท์อยู่ข้าง ๆ ตัวหรือไม่
- หมกมุ่นอยู่กับการเช็กข้อความในโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา แม้กระทั่งได้ยินเสียงคล้าย ๆ เสียงข้อความเข้า ถ้าไม่ได้ตรวจดูโทรศัพท์จะมีอาการกระวนกระวายใจ ไม่สามารถทำงานหรือปฏิบัติภารกิจตรงหน้าได้สำเร็จ ต้องดูหน้าจอโทรศัพท์เพื่อเช็กข้อความก่อน
- เมื่อตื่นนอนรีบคว้าโทรศัพท์มาเช็กข้อความ หรือก่อนนอนเล่นโทรศัพท์จนกระทั่งหลับ ใช้โทรศัพท์ระหว่างทานข้าว เข้าห้องน้ำ ขับรถ นั่งรอรถโดยสารประจำทาง และรถไฟฟ้า
- หากใครลืมโทรศัพท์ไว้ที่บ้านชั่วโมงแรกที่รู้ตัวว่าลืมโทรศัพท์จะรู้สึกมีความกังวลใจมาก หรือหาโทรศัพท์ไม่เจอจะรู้สึกตื่นตระหนกตกใจมาก
- ไม่เคยปิดโทรศัพท์มือถือเลย
- ใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าคุยกับเพื่อนที่นั่งอยู่ตรงหน้า
- ห้ามใจไม่ให้เล่นโทรศัพท์ภายใน 1 ชั่วโมงไม่ได้
ลองเช็กตัวเองดูถ้าใครมีอาการเหล่านี้แสดงว่ามีความวิตกกังวลใจเกินกว่าเหตุ เพราะความเป็นจริงการไม่มีโทรศัพท์มือถือแค่ 1 วัน มันไม่ได้สร้างปัญหาอะไรมากมายขนาดนั้น เราสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตลอดทั้งวัน
อาการกังวลใจของแต่ละคนไม่เท่ากัน
บางคนลืมโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้านกลับรู้สึกเฉย ๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติทั้งวัน อาจจะเป็นเพราะใช้งานน้อยอยู่แล้วหรือใช้เท่าที่จำเป็นจึงไม่ได้กระทบมาก บางคนรู้สึกกังวลใจแค่ในชั่วโมงแรก แต่ช่วงหลังเมื่อหาวิธีสื่อสารด้วยทางอื่นได้ก็หมดกังวล แต่บางคนรู้สึกว่าอดทนได้น้อย รู้สึกกระวนกระวาย วุ่นวายใจ หรือเวลาไปอยู่ในที่อับสัญญาณ ไม่สามารถอัพโหลดภาพได้ บางคนรุนแรงถึงขั้นหงุดหงิด ฉุนเฉียว โวยวายเรื่องไม่มีโทรศัพท์หรือใช้โทรศัพท์ไม่ได้ถือว่าเยอะไปแล้ว เพราะทำให้คนรอบข้างรู้สึกแย่ ไปด้วย
ผลเสียต่อสุขภาพกายที่ติดมือถือ
- สายตา อาการปวดเมื่อยคอ บ่าไหล่ เพราะเวลาใช้งานโทรศัพท์จะเกิดอาการเกร็งโดยไม่รู้ตัว
- ถ้าเล่นนาน ๆ จะปวดศีรษะตามมา และปัญหาเรื่องสมาธิเพราะตัวภาพและจอจะรบกวนทำให้ระบบสมาธิลดลง
ฉะนั้นในเด็กจึงแนะนำว่าไม่ควรเล่นมากเกินไป เนื่องจากอยู่ในวัยที่กำลังพัฒนาสมาธิ ส่งผลให้มีปัญหาในเรื่องสมาธิสั้น ส่งผลให้เด็กหลายคนอารมณ์ร้อนและขี้หงุดหงิดมากขึ้น
ดังนั้น อาการโนโมโฟเบียไม่ได้เป็นโรครุนแรงที่ต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา แค่ปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันของตัวเองหากิจกรรมอื่น ๆ ทำนอกเหนือจากการพักผ่อนด้วยการเล่นเกม ฟังเพลง ดูหนังในโทรศัพท์มือถือ เช่น ออกไปวิ่งออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ ไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์ นั่งพูดคุยกับเพื่อนแบบเห็นหน้ากัน แต่ทั้งนี้อยู่ที่ว่าถ้าเราเริ่มรู้สึกว่ามีผลกระทบ เช่น รู้สึกกังวลใจมาก ไม่สบายใจบ่อย ๆ หงุดหงิดง่าย ควรเริ่มปรับเปลี่ยนซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง
แหล่งที่มา rama.mahidol
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY