อย่าปล่อยให้ โรครองช้ำ เป็นปัญหากวนใจในทุกๆเช้า รักษาได้! แค่ทำตามวิธีเหล่านี้อย่างเป็นประจำ ก้าวได้อย่างมั่นคง ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป!
โรครองช้ำ ในทางการแพทย์จะเรียกกันอีกชื่อว่า โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือ พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บส้นเท้าบริเวณฝั่งที่เหยียบลงไปบนพื้น ซึ่งหากปล่อยให้เรื้อรังจะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรครองช้ำได้อย่างไร และสำหรับใครที่กำลังเผชิญโรครองช้ำอยู่ มีวิธีบำบัดหรือรักษาอาการนี้ได้อย่างไร ไปดูกันเลย!

3 ปัจจัยเสี่ยง โรครองช้ำ
รองช้ำ สามารถเป็นได้ในทุก ๆ ช่วงอายุ ซึ่งสาเหตุปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรครองช้ำ ได้แก่
- เส้นเอ็นร้อยหวายหรือพังผืดฝ่าเท้าตึงเกินไป ไม่ยืดหยุ่น ซึ่งอาจเกิดได้จากการไม่ค่อยได้ยืดคลายเส้นเอ็น ใช้งานอย่างเดียว เช่น ยืนนาน ๆ เดินนาน ๆ แล้วไม่เคยยืดเส้นเอ็นเลย ทำให้เป็นโรครองช้ำในที่สุด
- เส้นเอ็นเริ่มเสื่อม จากอายุที่มากขึ้น ยิ่งหากเป็นคนที่มีน้ำหนักมาก ยืนนานและเดินทั้งวัน เส้นเอ็นที่เริ่มเสื่อมนั้นจะมีลักษณะคล้ายกับเส้นเชือกที่ใช้งานมานาน มีอาการบวม อักเสบ จึงทำให้เจ็บบริเวณบริเวณส้นเท้า
- สวมใส่รองเท้าที่ไม่ถูกสุขลักษณะ แล้วใช้งานเท้าหนักเกินไป เช่น ใส่รองเท้าพื้นแข็ง แล้วยืนนาน ๆ ยืนตลอดทั้งวัน ทำงานที่ต้องเดินทั้งวัน ก็จะทำให้เป็นรองช้ำได้
โรครองช้ำ สังเกตได้อาการอย่างไร
อาการสังเกตของโรครองช้ำที่เป็นสัญญาณเอกลักษณ์สำคัญที่สุด คือ First Step Pain หรือ Morning Pain ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการตื่นเช้ามาแล้ว ก้าวแรกที่ลุกจากเตียงลงเดินจะรู้สึกเจ็บ เกิดอาการเจ็บแปลบขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเดินต่อเนื่องไปสักประมาณ 5-10 นาที เอ็นก็จะเริ่มกลับมายืดหยุ่นเป็นปกติ ทำให้อาการเจ็บน้อยลง ทั้งนี้ อาการ Morning Pain อาจไม่ได้จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นแค่เฉพาะการเดินหลังจากที่ตื่นนอนตอนเช้าเท่านั้น แต่จะเกิดได้จากการเดินหลังจากที่เรานั่งนาน ๆ โดยที่ไม่ได้ใช้งานเท้า เช่น ขับรถนาน ๆ นั่งดูทีวีนาน ๆ แล้วก้าวแรกที่ลงจากรถ หรือลุกเดินจากที่นั่งดูทีวี ก็จะรู้สึกเจ็บ เป็นต้น
หากปล่อยทิ้งไว้นาน ตัวโรคก็จะทวีความรุนแรงขึ้นได้ โดยจะทำให้เราเจ็บมากขึ้น เดินไม่ได้นานเหมือนปกติ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
วิธีการรักษา โรครองช้ำ
- ทานยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัด เป็นแนวทางการรักษาในกรณีเพิ่งเป็นโรคไม่นาน มีอาการไม่มาก และไม่เคยได้รับการรักษามาก่อน แพทย์จะให้ทานยาลดอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ ร่วมกับการปรับพฤติกรรมให้เดินน้อยลง สวมใส่รองเท้าที่มีพื้นนิ่ม พร้อมกับแนะนำวิธีการยืดน่อง เพื่อให้เอ็นยืดหยุ่น รวมถึงการทำกายภาพบำบัดด้วยการนวดฝ่าเท้า เพื่อให้ตัวพังผืดนิ่มลง ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบลงได้
- รักษาด้วยการทำ Shockwave เป็นการรักษาในกรณีที่ทานยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัดแล้วไม่หาย หรือในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการรักษาให้หายไวขึ้น โดยการ Shockwave นั้น จะเป็นการใช้เครื่องมือการรักษายิงคลื่นเสียงเข้าไปกระแทกบริเวณจุดเกาะเอ็นพังผืดที่บาดเจ็บตรงส้นเท้า เพื่อกระตุ้นการลดการอักเสบ โดยมีงานวิจัยรองรับชัดเจนว่าการใช้คลื่นเสียงนี้ สามารถช่วยรักษาโรครองช้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- รักษาด้วยการผ่าตัด โดยทั่วไปแล้วแนวทางการรักษา 2 วิธีแรก ได้แก่ การทานยา ทำกายภาพบำบัด ร่วมกับการทำ Shockwave นั้น สามารถทำให้ผู้ป่วย 80-90% อาการทุเลาลงและกลับมาหายดีได้ จะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่อาการไม่ดีขึ้น ซึ่งในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด ด้วยการตัดพังผืดฝ่าเท้าบางส่วนออก เพื่อให้เอ็นลดความตึงลง ซึ่งเมื่อเอ็นหย่อนคลายมากขึ้น อาการเจ็บจากรองช้ำก็จะหายไป
ท่ายืดเอ็นร้อยหวายและกล้ามเนื้อน่อง

- วิธีปฏิบัติ
- ใช้ผ้าคล้องหน้าเท้า
- มือ 2 ข้างจับที่ปลายผ้าแต่ละข้าง
- ดึงผ้าเข้าหาตัว มือ 2 ข้างออกแรงเท่ากัน ให้ข้อเท้ากระดกขึ้น
- ระหว่างยืด จะรู้สึกฝ่าเท้าถูกยืดออกเล็กน้อย แต่ไม่เจ็บ
- ค้างไว้ในท่าดังกล่าว นาน 20 วินาที (นับ 1 – 20)
ท่ายืดพังผืดใต้ฝ่าเท้า

- วิธีปฏิบัติ
- นั่งไขว่ห้าง ฝ่าเท้าข้างที่จะยืดอยู่ด้านบน
- ใช้มือหนึ่งค่อยๆดึงนิ้วเท้าให้กระดกขึ้นอย่างนุ่มนวล ไม่ออกแรงดึงเร็วหรือมากเกินไป
- ระหว่างยืด จะรู้สึกฝ่าเท้าถูกยืดออกเล็กน้อย แต่ไม่เจ็บ
- ค้างไว้ในท่าดังกล่าว นาน 20 วินาที (นับ 1 – 20)
ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลเมดพาร์ค และ โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY