เพศศึกษา101 เลือดออกทางช่องคลอด แต่ไม่ใช่ประจำเดือน อาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพ เสี่ยงโรคร้ายแรงหรือไม่ เกิดจากอะไร?
ผู้หญิงทุกคนต้องใส่ใจสุขภาพน้องสาวของเราให้ดี ภาวะเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ อาจหายได้เอง แต่การมีเลือดออกทางช่องคลอดบางครั้งหากปล่อยไว้อาจรุนแรงจนไม่สามารถรักษา หรือเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ หากพบเลือดออกทางช่องคลอดในปริมาณมาก หรือนานกว่า 1 สัปดาห์ร่วมกับอาการปวดท้องน้อย หรือปวดอุ้งเชิงกรานอย่างรุนแรง เวียนศีรษะ มีไข้ หรือมีภาวะซีดผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยสาเหตุและรับการรักษา

เลือดออกทางช่องคลอด แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ
- เลือดออกทางช่องคลอดปกติ (Normal Vaginal Bleeding) หรือประจำเดือน ซึ่งแต่ละรอบเดือนรังไข่จะผลิตไข่เพื่อปฏิสนธิกับอสุจิ กรณีไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิ เยื่อบุมดลูกที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับตัวอ่อนจะสลายออกมาเป็นประจำเดือน ทั้งนี้ ระยะเวลาของรอบเดือนจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน
- เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ (Abnormal Vaginal Bleeding) เลือดที่ไม่ใช่ประจำเดือน เช่น เลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ เลือดออกหลังเข้าวัยทอง เลือดออกทางช่องคลอดก่อนอายุ 9 ปี เป็นต้น ซึ่งการที่เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติมีสาเหตุได้หลากหลาย
อาการเลือดออกทางช่องคลอด
- เลือดออกทางช่องคลอดในปริมาณมาก หรือนานกว่า 1 สัปดาห์ จนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 2 ชั่วโมง
- ปวดบริเวณท้องน้อย หรือ ปวดอุ้งเชิงกรานอย่างรุนแรง
- วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
- มีไข้
- อาการที่แย่ลงหรือเกิดบ่อยขึ้น
- ภาวะซีดผิดปกติ
สาเหตุของเลือดออกทางช่องคลอด
- การคุมกำเนิดแบบฮอร์โมน เช่น ยาเม็ด แผ่นแปะ การฉีด อาจสังเกตเห็นได้ในช่วง 3 เดือนแรกของการใช้ เนื่องจากฮอร์โมนส่วนเกินอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเยื่อบุโพรงมดลูก
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิด เช่น หนองในเทียม
- การติดเชื้อที่ปากมดลูกหรือเยื่อบุโพรงมดลูก
- ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด
- ภาวะสุขภาพอื่นๆ เช่น พร่องไทรอยด์ โรคตับ หรือโรคไตเรื้อรัง
- เนื้องอกหรือติ่งเนื้อ เหล่านี้เป็นเนื้องอกที่ไม่เป็นมะเร็งที่เติบโตในเยื่อบุหรือกล้ามเนื้อของมดลูก
- กลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome PCOS) เกิดจากรังไข่ขยายใหญ่ขึ้นด้วยถุงน้ำที่ล้อมรอบไข่
- ร่างกายสร้างฮอร์โมนเพศชาย หรือแอนโดรเจน (Androgen) มากเกินไป บางครั้งอาจทำให้ไม่มีประจำเดือน
- มะเร็งของระบบสืบพันธุ์ รวมถึงมะเร็งมดลูก พบได้บ่อยในผู้หญิงที่ผ่านวัยหมดประจำเดือนแล้ว
- ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก ภาวะรกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด การแท้งบุตร
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น ออกกำลังกายหักโหมเกินไป การสอดสิ่งของแปลกปลอมเข้าไปภายในช่องคลอด น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลงผิดปกติ หรือมีแผลฉีกขาดในช่องคลอด เป็นต้น
ดังนั้นใครที่มีภาวะเลือดออกในช่องคลอดต้องระวัง และควรหาสาเหตุของภาวะนี้ให้เจอเพราะการเลือดออกทางช่องคลอดแสดงได้ถึงภาวะผิดปกติของอวัยวะเพศหญิงแน่นอน และสามารถนำให้เกิดอาการซีดหรือภาวะอื่นๆ ที่ทำให้ร่างกายแย่ลงได้อีกด้วย ใครที่เป็นก็ควรที่จะไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้ถูกต้อง
แหล่งที่มา samitivejhospital
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY