อาการติดยาเป็นอย่างไร? 5 สัญญาณที่บ่งบอกว่าถึงเวลาต้องบำบัด ปัญหายาเสพติด เรื่องใกล้ตัวกว่าที่หลายคนคิด มีอะไรบ้าง
ปัญหายาเสพติด เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่หลายคนคิด เพราะปัจจุบันการหาซื้อสามารถทำได้ง่าย มีขายกันบนโลกออนไลน์อย่างโจ่งแจ้ง ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าราคาต่ำกว่าในอดีตเกือบเท่าตัว แทบจะถูกกว่าค่าข้าวมื้อหนึ่งด้วยซ้ำ ทำให้คนบางกลุ่มเกิดความอยากรู้อยากลอง หรือมองว่าเป็นตัวช่วยในการหลีกหนีจากความเครียด ความกดดัน ปัญหาชีวิต แต่เมื่อได้ลองแล้วก็มักจะติด และใช้มากขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลกระทบต่อชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การงาน สุขภาพ และอาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรง เพราะฉะนั้นจึงควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของคนใกล้ตัว หากมีความผิดปกติเหล่านี้ ควรเข้ารับการบำบัดในศูนย์บำบัดยาเสพติดเอกชนโดยเร็วที่สุด เรามาดูกันดีกว่าว่า 5 สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าถึงเวลาพาคนใกล้ตัวไปบำบัดยาเสพติด มีอะไรบ้าง
1. สุขภาพทรุดโทรม น้ำหนักลดลงผิดปกติ
ผู้ที่ใช้ยาเสพติดมักมีร่างกายที่อ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วจนร่างกายซูบผอม ดูอิดโรย เหนื่อยง่าย ไม่มีเรี่ยวแรง ผิวพรรณหมองคล้ำ ตาลึกโหล ขอบตาคล้ำ ริมฝีปากแห้งแตก มือสั่น กลิ่นตัวแรง พูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง
2. อารมณ์ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย
นอกจากอาการทางกาย ยาเสพติดก็มักจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ทำให้ผู้เสพมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย เกรี้ยวกราด กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข มีพฤติกรรมก้าวร้าว พูดจาหยาบคาย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เช่น แสดงอาการโมโหรุนแรงเมื่อถูกจี้ถามหรือขัดใจ นำไปสู่การทะเลาะวิวาทบ่อยครั้ง ทำให้มีปัญหากับคนรอบข้าง ทำลายข้าวของ หรือทำร้ายผู้อื่น บางรายอาจมีอาการซึมเศร้า วิตกกังวลร่วมด้วย
3. เก็บตัว ไม่ชอบเข้าสังคม
ผู้ที่เสพยามักจะชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว ไม่สุงสิงกับใคร ไม่อยากให้ใครมายุ่งเกี่ยว ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องเพื่อเสพยา และนอนหลับเป็นเวลานานผิดปกติ จากที่เคยร่าเริงก็กลายเป็นคนเงียบขรึม ไม่ค่อยพูดจา ไม่กล้าสบตาผู้อื่น หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว เพื่อนฝูง และมักมีเพื่อนใหม่เป็นคนแปลกหน้าที่เสพยาด้วยกัน
4. ขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจสิ่งรอบตัว
เมื่อยาเสพติดเข้ามาครอบงำความคิด ผู้เสพมักให้ความสำคัญกับการเสพมากกว่าสิ่งอื่น จนละเลยหน้าที่ ไม่สนใจการเรียน การทำงาน เฉื่อยชา เกียจคร้าน ขาดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบทำ หรือแม้แต่กิจวัตรในชีวิตประจำวัน เช่น การอาบน้ำ แปรงฟัน หวีผม ไม่สนใจดูแลตัวเอง
5. แต่งตัวปกปิดมิดชิดผิดปกติ
ผู้เสพมักพยายามปกปิดร่องรอยของการใช้ยาเสพติด เช่น รอยเข็มฉีดยาที่แขน หรือบาดแผลตามร่างกาย ด้วยการสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว แม้ในสภาพอากาศร้อน บางคนอาจใส่แว่นกันแดดตลอดเวลา เพราะตาพร่าสู้แสงแดดไม่ไหว หรือไม่อยากสบตากับผู้อื่น
การเข้ารับการบำบัดอย่างถูกวิธี จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเลิกยาได้สำเร็จ ลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนของอาการลงแดง รวมถึงลดโอกาสที่จะกลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำอีกในอนาคต เพราะฉะนั้นหากพบว่าคนใกล้ตัวของคุณกำลังเป็นตกเหยื่อของยาเสพติด ควรเปิดใจคุยด้วยความเข้าใจ และสนับสนุนให้เข้ารับการบำบัดโดยเร็วที่สุด เพราะกำลังใจจากคนรอบข้างจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เสพสามารถก้าวข้ามปัญหาและกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง