แชร์วิธีทวงเงินแบบสุภาพที่คิดมาจากหลักจิตวิทยาการทวงเงิน เพิ่มโอกาสให้คุณได้รับเงินคืน โดยไม่เกิดความขัดแย้ง-กระทบความสัมพันธ์กับลูกหนี้

เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่อาจทำลายความสัมพันธ์ระหว่างคนได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะเมื่อต้องทวงเงินจากเพื่อน หรือคนรู้จักที่ยืมไปแล้วไม่คืน เราจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อรักษาทั้งเงิน และความสัมพันธ์ไว้ให้ได้ สำหรับใครที่กำลังประสบกับปัญหานี้อยู่ เราขอแนะนำเทคนิคการทวงเงินแบบสุภาพ ที่จะช่วยให้คุณได้เงินคืน โดยไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง หรือเสียความสัมพันธ์อันดี จะมีเทคนิคอะไรน่าสนใจบ้าง ตามไปดูกันเลย
ทวงหนี้ให้ได้เงินคืน ต้องเข้าใจจิตวิทยาการทวงเงิน
การใช้จิตวิทยาการทวงเงินที่ถูกต้อง เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้คุณได้เงินคืน โดยไม่ทำลายความสัมพันธ์ที่มีอยู่ เพราะการทวงหนี้นั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงความรู้สึกของลูกหนี้เป็นสำคัญ หากเราทวงด้วยวิธีที่ทำให้ลูกหนี้รู้สึกอับอาย เครียด หรือกดดันเกินไป อาจทำให้ลูกหนี้หลีกเลี่ยงการพบเจอเรา และทำให้โอกาสที่จะได้เงินคืนยิ่งน้อยลงไปอีก เทคนิคการทวงหนี้อย่างมีจิตวิทยาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราได้เงินคืน และยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีไว้ได้นั่นเอง
แนะนำ 4 วิธีทวงเงินแบบสุภาพ ไม่กระทบความสัมพันธ์
การทวงเงินให้ได้ผลโดยไม่ทำร้ายความรู้สึกของอีกฝ่ายต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ เราขอแนะนำ 4 วิธีทวงเงินแบบสุภาพที่จะช่วยให้คุณได้เงินคืนโดยไม่ต้องเสียเพื่อน ไม่ทำให้เกิดความอึดอัดใจ และยังสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีไว้ได้ มาดูกันว่ามีเทคนิคอะไรบ้าง
1. ทวงเงินในพื้นที่ส่วนตัว ไม่ทำให้ลูกหนี้อับอาย

กฎเหล็กของการทวงเงินแบบสุภาพ คือ ต้องรักษาหน้าของลูกหนี้ไว้เสมอ อย่าทวงเงินต่อหน้าคนอื่น หรือในที่สาธารณะ เพราะจะทำให้ลูกหนี้รู้สึกอับอาย เสียหน้า และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ ยิ่งไปกว่านั้น การทวงหนี้ในโลกโซเชียลมีเดียถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และอาจนำมาซึ่งความเสียหายทั้งต่อตัวคุณ และความสัมพันธ์
คุณควรเลือกพูดคุยในพื้นที่ส่วนตัว เช่น นัดพบกันตามลำพังในที่ที่มีความเป็นส่วนตัว หรือโทรศัพท์คุยกันโดยตรง จะช่วยให้การทวงเงินเป็นไปอย่างสุภาพ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. ให้เวลาและโอกาสในการหาเงินมาคืน
เมื่อเราทวงเงิน ลูกหนี้อาจยังไม่พร้อมจะคืนเงินในทันที อาจเป็นเพราะเขากำลังประสบปัญหาทางการเงินจริง ๆ การเร่งรัดมากเกินไปอาจทำให้ลูกหนี้เกิดความเครียด และหาทางหลีกเลี่ยงการพบเจอกับเรา
แทนที่จะกดดันให้ลูกหนี้ต้องคืนเงินทันที ลองเสนอให้เขามีเวลาหาเงินมาคืน ให้โอกาสเขาได้จัดการปัญหาการเงินของตัวเอง การให้เวลาและโอกาสจะทำให้ลูกหนี้รู้สึกไม่ถูกบีบคั้น และมีแรงจูงใจที่จะหาทางคืนเงินให้เรา แม้จะได้เงินคืนช้าหน่อย แต่อย่างน้อยก็ยังมีโอกาสได้เงินคืน
3. แสดงออกให้ลูกหนี้ทราบว่า เราก็มีความเดือดร้อนเหมือนกัน
ลองนึกย้อนไปตอนที่ลูกหนี้มาขอยืมเงิน เขามักจะมาพร้อมกับเรื่องเล่าที่น่าเห็นใจเสมอ เมื่อถึงเวลาที่เราต้องทวงเงินคืน เราก็สามารถใช้วิธีเดียวกันนี้ได้ แสดงให้ลูกหนี้เห็นว่าเรากำลังมีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนนั้น เช่น มีค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ต้องนำเงินไปใช้หนี้ต่อ หรือมีภาระทางการเงินที่ต้องจัดการ การแสดงให้เห็นว่า เราก็กำลังเดือดร้อนจะช่วยกระตุ้นความรู้สึกรับผิดชอบของลูกหนี้ และทำให้เขาเร่งหาทางคืนเงินให้เรามากขึ้นได้
4. เสนอทางเลือกในการชำระหนี้ที่ลูกหนี้จ่ายไหว

หากหนี้มีจำนวนมาก การเรียกร้องให้ลูกหนี้คืนเงินทั้งหมดในคราวเดียวอาจเป็นเรื่องยากสำหรับเขา การเสนอทางเลือกในการชำระหนี้ที่ยืดหยุ่น จะช่วยให้ลูกหนี้รู้สึกว่ามีทางออก และสามารถจัดการหนี้สินได้ ตัวอย่างเช่น เสนอให้ทยอยชำระเป็นงวด ๆ หรือแบ่งหนี้ก้อนใหญ่ออกเป็นหลาย ๆ ก้อนเล็ก เพื่อให้ลูกหนี้สามารถจัดการได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ เราอาจพิจารณาการรับชำระหนี้ในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่เงินสด เช่น การรับสิ่งของที่มีมูลค่าเทียบเท่า หรือการแลกเปลี่ยนด้วยบริการ หรือความช่วยเหลือที่ลูกหนี้สามารถทำให้ได้ การเปิดโอกาสให้ลูกหนี้มีทางเลือกในการชำระหนี้จะทำให้เขารู้สึกว่าเรากำลังพยายามช่วยเหลือ ไม่ได้แค่ต้องการเงินคืนเพียงอย่างเดียว และอาจทำให้ได้รับการตอบสนองที่ดีขึ้น
สรุปบทความ
การทวงเงินอย่างสุภาพและมีจิตวิทยาเป็นศิลปะที่ต้องอาศัยความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ จากเทคนิคทั้ง 4 ข้อที่แนะนำไป ทำให้เราเห็นว่า การทวงเงินที่มีประสิทธิภาพไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง หรือทำลายความสัมพันธ์ การเลือกพื้นที่ส่วนตัวในการทวงเงิน การให้เวลาและโอกาส การแสดงความเดือดร้อนของตนเอง และการเสนอทางเลือกในการชำระหนี้ที่ยืดหยุ่น ล้วนเป็นวิธีที่จะช่วยให้เราได้เงินคืนโดยไม่ต้องเสียความสัมพันธ์อันดี แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การรักษาความหนักแน่นและจริงจังในการทวงหนี้ เพราะถ้าเราไม่แสดงออกว่า เราต้องการเงินคืนจริง ๆ ลูกหนี้ก็อาจไม่เห็นความสำคัญ และผัดผ่อนการชำระหนี้ไปเรื่อย ๆ