รู้จัก 4 กษัตริย์ในสมัยอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าเสือ พระเจ้าท้ายสระ ที่ถูกถ่ายทอดเรื่องราวผ่านละครเรื่อง “พรหมลิขิต”
เรียกได้ว่ารอคอยกันมาอย่างยาวนานสำหรับตำนาน แม่นายการะเกด กับ คุณพี่หมื่น ที่เคยสร้างกระแส ออเจ้า ไปทั่วบ้านทั่วเมืองกับละครแห่งยุคอย่าง บุพเพสันนิวาส และเมื่อคืนนี้ 18 ตุลาคม 2566 หลังจากที่ละครภาคต่อที่ทุกคนรอคอยอย่างเรื่อง พรหมลิขิต ได้ออนแอร์เป็นตอนแรก แฟนละครต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า วันพุธ-พฤหัสบดี แห่งชาติได้กลับมาแล้ว เพียงแค่ตอนแรกเนื้อเรื่องก็สนุก และน่าติดตามเป็นอย่างมาก
วันนี้ทีมงาน ไบรท์ทูเดย์ (Bright Today) จะพาแฟนละคร พรหมลิขิต ทุกท่าน ย้อนประวัติศาสตร์กลับไปในยุคสมัยอยุธยา เพื่อทำความรู้จักกับ 4 พระมหากษัตริย์ที่ถูกหยิบขึ้นมาเล่าเรื่องราวผ่านละคร พรหมลิขิต โดยนักแสดงชั้นนำของช่อง 3 ถ้าอยากรู้จักกันแล้ว ก็ไปติดตามพร้อมกันได้เลยค่ะ
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (แสดงโดย ปราปต์-ปราปต์ปฎล สุวรรณบาง)
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 4 และพระองค์สุดท้ายของราชวงศ์ปราสาททอง โดยในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น อาณาจักรอยุธยาถือได้ว่าเป็นยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองที่สุด
เนื่องจากทรงได้เจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ในด้านการค้า ทรงมีการนำวิทยาการสมัยใหม่มาปรับใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 8 สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในประเทศไทย อีกทั้งยังทรงได้รับพระสมัญญานามว่าเป็น “มหาราช”
ในเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2231 สมเด็จพระนารายณ์ทรงประชวรหนัก ไม่สามารถว่าราชการได้ เป็นเหตุให้ พระเพทราชา จำเป็นต้องมาว่าราชการแทน ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์ได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พุทธศักราช 2231 ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี ครองราชสมบัติสิริรวม 32 ปี มีพระชนมพรรษา 56 พรรษา ภายหลังการสวรรคต พระเพทราชา โปรดให้อัญเชิญพระบรมศพจากจังหวัดลพบุรีสู่กรุงศรีอยุธยาผ่านทางเรือพระที่นั่งศรีสมรรถชัย
สมเด็จพระเพทราชา (แสดงโดย : บิ๊ก-ศรุต วิจิตรานนท์)
สมเด็จพระเพทราชา หรือสมเด็จพระมหาบุรุษ วิสุทธิเดชอุดม แต่เดิมสามัญชน ชื่อว่า ทองคำ เป็นชาวบ้านพลูหลวง ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2175 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระเพทราชา เป็นบุตรของพระนมเปรม และมีพระขนิษฐา คือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
พระเพทราชา เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 28 แห่งกรุงศรีอยุธยา และทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงและเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ขึ้นปกครองอาณาจักรอยุธยา โดยการได้ขึ้นครองราชย์ของ พระเพทราชา นั้นในประวัติศาสตร์ได้มีการกล่าวขานเอาไว้ว่าเป็นการแย่งชิงพระราชบัลลังก์มาจาก สมเด็จพระนารายณ์มหาราช กษัตริย์พระองค์ก่อน
พระเจ้าเสือ (แสดงโดย : ก๊อต-จิรายุ ตันตระกูล)
สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี หรือ หลวงสรศักดิ์ นามเดิมคือ สิงห์ มีพระอุปนิสัยโหดร้ายดั่งเสือ ประชาชนในสมัยนั้นจุงเรียกขานพระองค์ว่า พระเจ้าเสือ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าเกล้าอยู่หัว ทรงพระบรมราชวินิจฉัยพระนามว่าเป็น สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 29 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นกษัตริย์พระองค์ที่สองแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของอยุธยา พระเจ้าเสือ ทรงครองราชย์ตั้งแต่พ.ศ.2246-พ.ศ.2251
พระเจ้าเสือ ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านมวยไทย พระองค์ทรงเป็นผู้คิดท่าแม่ไม้มวยไทยขึ้นมา ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฎอย่างชัดเจน และได้มีการถ่ายทอดเป็นตำราให้ชาวไทยรุ่นหลังได้เรียนรู้ฝึกฝนจวบจนถึงปัจจุบันนี้
พระเจ้าท้ายสระ (แสดงโดย : เกรท-วรินทร)
สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 หรือ พระเจ้าท้ายสระ หรือ พระเจ้าภูมินทราชา หรือพระเจ้าบรรยงก์รัตนาสน์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 30 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่สามแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของยุคสมัยอยุธยา พระเจ้าท้ายสระ ทรงครองราชย์ระหว่างช่วงปีพ.ศ. 2251 – พ.ศ. 2275
ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ได้มีการลงบันทึกเกี่ยวกับพระอาการประชวรของ พระเจ้าท้ายสระ ระบุว่า ‘พระองค์ประชวรที่พระชิวหา (ลิ้น) จึงสันนิษฐานว่าพระองค์อาจเป็นมะเร็งช่องปาก’
พระเจ้าท้ายสระ ประชวรด้วยพระโรคนี้เป็นเวลานานจนเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2275 หลังจากพระองค์เสด็จสวรรคตลง เจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสได้อ้างสิทธิในราชสมบัติ และทางด้านของ เจ้าฟ้าปรเมศร์ ได้สู้รบกับ เจ้าฟ้าพร พระอนุชาของ พระเจ้าท้ายสระ ด้วยเหตุนี้เองทำให้เกิดสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้น
ที่มา : wikipedia
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY