ตอนนี้ดูเหมือน “#1500 พี่ว่าไง” กำลังเป็นแฮชแท็กฮิตในโซเชียลเสียเหลือเกิน ไม่เชื่อคุณลองเอาแฮชแท็กนี้ไปค้นหาในเฟซบุ๊กดูซิ แล้วจะเห็นเคยว่าคนที่ติดแฮชแท็กนี้ส่วนใหญ่จะเป็นหมู่เด็กวัยรุ่นช่วงมัธยมใช้กัน
จากการสอบถามเหล่าคนที่เห็นแฮชแท็กนี้ได้คำตอบกลับมาว่า “เด็ก ๆ เขาก็เล่นกันขำ ๆ ไป แล้วผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเด็กบ้างล่ะ หัดเข้าใจวัยรุ่นบ้าง โต ๆ กันละยังคิดไม่ได้รึไง แล้วไอ้ที่ทักไปถามซื้ออ่ะ คืออยากทราบว่าคุณโง่หรือคุณอยากจนไม่รู้จักแยกแยะ อย่าให้ความอยากมันครอบงำสมองสิคุณ โต ๆ กันแล้ว คิดหน่อย” เสียงจากเด็กชายคนหนึ่งที่เห็นเรื่องนี้เป็นเพียงแค่เรื่องสนุกเท่านั้น
สาวน้อยอีกคนก็บอกว่า “มันก็แค่แคปชั่น ไม่รู้จักคำว่าแคปชั่นกันเหรอ เขาโพสต์กันเล่น ๆ จะไปจริงจังกันทำไม ยอมรับว่ามันเกินไปก็จริง แต่ใครเขาจะไปทำจริง ๆ กันล่ะ ลูกเขาก็มีพ่อมีแม่ สมองคิดได้แค่นี้เหรอ?”
บ้างก็ถึงกับด่าเพจที่เอารูปพวกนี้มาโพสต์ว่า “แค่โพสต์เล่น ๆ ไม่ได้ขายจะมายุ่งอะไรกับเฟซของคนอื่น ถ้าว่างมากก็ไปหาอย่างอื่นทำดีกว่าไหม? มีสมองไว้แค่ประดับหัวรึไงถึงได้คิดตื้น ๆ ได้แค่นี้”
แต่ในทางกลับก็มีเสียงสะท้อนกับเรื่องนี้กลับมาว่า การกระทำแบบนี้มันคือ “ตลาดล่าง” รวมถึงมีคนตั้งข้อสงสัยเอาไว้ว่าหรือความจริงแล้วการที่โพสต์แบบนี้เพราะมีความคิดว่าอยากจะขายตัวจริง ๆ ใช่ไหม?
อย่างหนุ่มคนนี้ได้ให้ความคิดเห็นเอาไว้ว่า “#1500 มันคือผลลัพธ์ของความแหลกเหลวของระบบการศึกษา และค่านิยมการดำเนินชีวิตที่มีทุนนิยมและวัตถุนิยมเป็นที่ตั้ง เมื่อเงินคือทุกสิ่งที่อย่างที่เด็กต้องการเพื่อเติมเต็มความต้องการทางวัตถุต่าง ๆ และการหาเงินไม่ใช่เรื่องง่าย การหาทางออกโดยการขายเรือนร่างที่มาจากความเชื่อที่ว่า ไม่เสียหายอะไร โดยกลุ่มลูกค้าผู้มีรายได้และสามารถใช้เงินจ่ายเพื่อซื้อบริการทางร่างกาย ปลายทางของผู้ที่หลงเข้าไปติดอยู่ในวังวนเช่นนี้ ยากที่จะลงเอยด้วยดี จากบทสัมภาษณ์ของผู้ผ่านประสบการณ์เหล่านี้และได้แต่งออกมาเป็นหนังสือมากมาย ให้ความเห็นตรงกันว่า “ถอนตัวไม่ขึ้น” เพราะปัจจัยในการติดงานสบาย หาเงินง่าย ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ไม่มีเงินเก็บ และไม่มีความสามารถในการประกอบอาชีพอื่น หากเราอยากเห็นอนาคตของชาติเป็นไปในทางที่ดี ควรเริ่มจากตัวเราเอง และระบอบการศึกษา ไม่สนับสนุนการกระทำเหล่านี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้ความรู้ ปฏิรูปการศึกษาให้เยาวชนมีความคิดมากกว่าการเรียนแบบท่องจำ เพื่อให้เติบโตเป็นบุคคลากรที่มีคุณภาพของประเทศได้ หากเรานิ่งเฉย ไม่กระทำการใดใด ก็เท่ากับปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งปกติที่พบเห็นได้ตลอดไป”
“อันดับแรกเลยคิดว่าจริงหรือเปล่า ถ้าจริง สงสารเด็กพวกนี้มากกว่าจะซ้ำเติม แต่ทำอะไรไม่ได้ นอกจากรอติดตามอ่านความคืบหน้าว่าจริง ๆ แล้วเป็นอย่างไร พอรู้แล้วก็ผ่านไป เหมือนอ่านเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่งค่ะ เพราะเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ใหม่เสมอ แต่ถ้าให้พูดถึงในแง่มุมของคนเป็นแม่ต้องบอกว่า รู้สึกเสียใจที่ลูกฟุ้งเฟ้อ อยากได้อะไรทำไมไม่บอกแม่ คิดอะไรตื้น ๆ และอายถ้าคนอื่นรู้ค่ะ” คุณแม่ท่านหนึ่งได้ให้ความคิดเห็นเอาไว้หลังจากได้เห็นแฮชแท็กพร้อมรูปภาพที่กำลังกระจายอยู่ในโลกโซเชียล
นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนจากคนบางกลุ่มที่ ไบรท์ออนไลน์ ได้ไปสอบถามมาเท่านั้น ต้องบอกเลยว่า ดราม่า “#1500 พี่ว่าไง” ยังไม่จบลงง่าย ๆ อย่างแน่นอน ยังมีการถกเถียงกันอย่างไม่จบไม่สิ้น เพราะอย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นแล้วว่ามีทั้งผู้ที่เห็นว่าเป็นแค่เรื่องสนุก โพสต์ขำ ๆ กับอีกฝ่ายที่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควร แถมยังสื่อให้เห็นความเสื่อมของเด็กยุคนี้อีกด้วย
หรือความจริงแล้วสิ่งที่พวกเขาทำเพราะเห็นว่ามันกำลังอินเทรนด์ ไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าการได้อ่านคอมเม้นท์สนุก ๆ ของคนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น แล้วหากเจอคนที่คิดจริงจังขึ้นมาจะมีวิธีรับมือกับมันยังไงได้บ้าง นอกจากการโต้ตอบกลับไปด้วยวาจาที่ไม่สุภาพล่ะ?
ยังมีความเชื่อผิด ๆ อยู่มากมายว่า “โซเชียล” สามารถโพสต์อะไรที่คิดลงไปก็ได้ ทั้งที่ความจริงแล้วมันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ไม่ว่าเราจะโพสต์อะไรลงไปย่อมมีคนเห็นอยู่ดี ยิ่งโพสต์เรื่องส่วนตัวมากเท่าไร รู้ไหมว่ายิ่งอันตรายกับตัวเองมากเท่านั้น
แล้วคิดดูว่าทุกวันนี้ข่าวเกี่ยวกับโลกโซเชียลมีออกมามากมายขนาดไหน? หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังใช้โซเชียลอยู่คิดว่าจะมีวิธีการป้องกันตัวเองจากภัยโซเชียลได้อย่างไร? แล้วในฐานะพ่อแม่รวมถึงผู้ใหญ่ล่ะ? คุณจะบอกเด็ก ๆ ของคุณเกี่ยวกับเรื่องการใช้โซเชียลว่าอย่างไรดี?
หลังจากอ่านเรื่องนี้จบแล้วคุณมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างลองมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้ ไบรท์ออนไลน์ ฟังกันหน่อยซิคะ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : รีวิวงาน 1500 สาวแห่แชร์รูป “ขายตัว” อ่านแล้วเครียด สังคมต่ำตมขนาดนี้