การตั้งโต๊ะแถลงข่าวของ “ดร.เกษม ณรงค์เดช” พร้อมบุตรชาย “กฤษณ์ ณรงค์เดช” บุตรชายคนโต และ “กรณ์ ณรงค์เดช” บุตรชายคนสุดท้อง ประกาศไม่ขอรับผิดชอบกับการทำธุรกรรมใดๆ “ณพ ณรงค์เดช” บุตรชายคนกลาง และจะดำเนินคดีจนถึงที่สุด หากมีการนำชื่อของสมาชิกครอบครัว “ณรงค์เดช” ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เป็นการขับ “ณพ ณรงค์เดช” พ้นจากกงสีและตัดสัมพันธ์กับตระกูล “ณรงค์เดช” เจ้าของกลุ่มบริษัทเคพีเอ็น ที่ก่อตั้งขึ้นโดย ดร.เกษม และ คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช มารดาผู้ล่วงลับ
ศึกสายเลือดที่มีปมขัดแย้งจากธุรกิจของตระกูลณรงค์เดช ดูเหมือนจะซ้ำรอยกับผู้เป็นแม่ “คุณหญิงพรทิพย์” ซึ่งเคยสะบั้นสัมพันธ์กับตระกูล “พรประภา” ซึ่งเป็นตระกูลเดิมของเธอ ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้นามสกุลณรงค์เดช เป็นการหันหลังให้อาณาจักรธุรกิจ “สยามกลการ” ออกมาก่อตั้ง กลุ่มบริษัทเคพีเอ็น ดำเนินธุรกิจที่เรียกว่าแทบจะทับไลน์กันเลยทีเดียว
ศึกรุ่นใหญ่ “พรทิพย์-พรเทพ” ใน“สยามกลการ”
ก่อนที่คุณหญิงพรทิพย์จะออกมาสร้างอาณาจักรเคพีเอ็น “พรทิพย์ พรประภา” เริ่มเข้ามาช่วยงานบิดา “ถาวร พรประภา”ผู้ก่อตั้ง บริษัท สยามกลการ จำกัด ในวัยเพียง 18 ปี ด้วยความเป็นผู้หญิงเก่ง ไม่ยอมแพ้ และได้รับความไว้วางใจจากผู้เป็นพ่อ เพียงไม่นานก็รู้รอบงานในบริษัทสยามกลการ และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเลขาธิการประธานกรรมการ แทนมารดา ที่เสียชีวิตลงจากโรคมะเร็ง

เพียงเวลาไม่นาน พรทิพย์ ก็เข้ามากุมบังเหียนดูแลสยามกลการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สยามกลการในช่วงเวลาดังกล่าวสามารถดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จได้อย่างงดงาม โดยเบื้องหลังส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก “ดร.เกษม ณรงค์เดช” ผู้เป็นสามีของพรทิพย์ จนถึงกับกล่าวกันว่า ดร.เกษมคือลูกเขยคนโปรดของเจ้าสัวถาวร

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาดูแลกิจการครอบครัว “พรประภา” ของคุณหญิงพรทิพย์ ไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะธุรกิจของครอบครัวกลายเป็นสมรภูมิแย่งชิงอำนาจของพี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกัน กระแสการสับเปลี่ยนโยกย้ายเอาคนของตัวเองเข้าไปทำหน้าที่ในตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อช่วงชิงอำนาจและความได้เปรียบทางธุรกิจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในที่สุด “กลุ่ม 3 พร” ซึ่งประกอบด้วย “พรเทพ – พรพงษ์ –พรพินิจ” ผู้เป็นน้องชายแท้ ๆ ของคุณหญิงพรทิพย์ ก็ดึงคุณหญิงพรทิพย์ร่วงลงจากเก้าอี้ผู้จัดการใหญ่และซีอีโอของสยามกลการ ด้วยหนังสือที่ลงนามโดย “ถาวร” ผู้เป็นบิดา ปลดคุณหญิงพรทิพย์ออกจากตำแหน่ง พร้อมกับมีคำสั่งแต่งตั้ง “พรเทพ” ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ “พรพงษ์” เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส “พรพินิจ” เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปิดฉากอำนาจการบริหารของคุณหญิงพรทิพย์ในสยามกลการลงโดยไม่ทันให้ตั้งตัว
ฟางเส้นสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อ พรเทพมีคำสั่งปลดคุณหญิงพรทิพย์ออกจากตำแหน่งรองประธานสยามกลการ ซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารสูงสุดตำแหน่งสุดท้ายที่คุณหญิงฯ มีอยู่ ทั้งที่ไม่มีอำนาจในเชิงการบริหารแต่อย่างใด นั่นเป็นชนวนเหตุให้คุณหญิงพรทิพย์ถึงกับประกาศ “ไม่มีน้องชายคนนี้อีกต่อไป”

ในขณะเดียวกัน “ดร.เกษม-คุณหญิงพรทิพย์” ก็ตีโต้ได้สาสม เมื่อประกาศเปิดตัว “บริษัท เคพีเอ็น กรุ๊ป” ที่มีบริษัทในเครือกว่า 30 บริษัท และ นำกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยามาฮ่า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น บินด่วนมาแถลงข่าว ว่า “ยามาฮ่า” จะไม่ขอต่อสัญญากับบริษัท สยามยามาฮ่า ที่มีสยามกลการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่จะหันมาจับมือกับเคพีเอ็น ซึ่งเป็น “คู่ค้าตัวจริงและไว้ใจที่สุด”แทน…เป็นการดึงพาร์ตเนอร์ธุรกิจรายใหญ่ที่ทำธุรกิจร่วมกันมาอย่างยาวนาน ออกจากอาณาจักรของ “สยามกลการ” อย่างเจ็บแสบ และบีบให้พรเทพต้องขายหุ้นใหญ่ในบริษัทสยามยามาฮ่า ให้เคพีเอ็นโดยไร้อำนาจการต่อรอง ไม่เพียงเท่านั้นเคพีเอ็นยังดำเนินธุรกิจชนกับ “สยามกลการ” ทั้งการเปิดสถาบันดนตรี “เคพีเอ็น” และจัดการประกวด “เคพีเอ็น อวอร์ด” ชกกันหมัดต่อหมัดกับ “โรงเรียนสอนดนตรียามาฮ่า” และการประกวดร้องเพลง “สยามกลการ” ของตระกูล “พรประภา”
ศึกรุ่นลูก “เกษม-กฤษณ์-กรณ์” ต่อกรกับ “ณพ”
นั่นเป็นศึกสายเลือด “รุ่นแม่” ระหว่าง “พี่-น้อง” ครั้งนี้ เป็นศึกษาสายเลือดในตระกูล “ณรงค์เดช” เมื่อ 3 หนุ่ม 3 ก. ผู้เป็นบิดาและบุตรชายอีก 2 คน “ดร.เกษม-กฤษณ์-กรณ์” ร่วมกันแถลงข่าวขับ “ณพ”ออกจากตระกูลโดยมีปมขัดแย้งทางธุรกิจเช่นเดียวกับศึกของรุ่นแม่
ดร.เกษม ได้อ้างชนวนเหตุความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ว่ามาจาก “ณพ ณรงค์เดช” ลูกชายคนกลาง ได้ขอให้ครอบครัวเข้าซื้อหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) เพื่อให้เป็นธุรกิจในกงสีครอบครัว ซึ่งครอบครัวได้จัดหาเงินพร้อมทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรให้ณพ แต่บุตรชายคนกลางกลับเอาชื่อเสียงของบิดาและชื่อเสียงของกลุ่มบริษัท เคพีเอ็น ไปอ้าง เพื่อดำเนินการเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ว่าทุกอย่างดำเนินการภายใต้กลุ่มเคพีเอ็น และมีการใช้ชื่อเสียงของครอบครัว เพื่อไปยืมเงินคนอื่น โดยที่ไม่มีการชี้แจงรายละเอียดใด ๆ ให้ครอบครัวทราบ
นอกจากนี้ณพ ยังผิดสัญญาซื้อ-ขายหุ้น ไม่ชำระค่าหุ้นให้ผู้ถือหุ้นเดิม ผู้ถือหุ้นจึงดำเนินการฟ้องร้อง “ดร.เกษม-กฤษณ์-ณพ” ในข้อหาฉ้อโกง ซึ่งเป็นคดีอาญา อีกทั้ง “ณพ” ยังยักย้ายถ่ายโอนหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ไปยังที่ต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือการโอนซื้อ-ขายให้กับ “คุณหญิงกอแก้ว บุญยะจินดา” ภรรยาของ “พล.ต.อ.พจน์ บุญยะจินดา” ซึ่งเป็นมารดาของ “พอฤทัย ณรงค์เดช” ภรรยาของณพ หรือพูดให้เข้าใจง่าย คุณหญิงกอแก้วคือ “แม่ยาย” ของณพนั่นเอง เรื่องดังกล่าวเป็นคดีความฟ้องร้องกันยังไม่เป้นที่ยุติ โดยทาง ดร.เกษมอ้างว่าเอกสารการซื้อขายในครั้งนั้น เป็นการปลอมลายมือชื่อของ ดร.เกษม โดยที่เจ้าตัวไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการเอง
ศึกษาสายเลือดครั้งนี้ เชื่อว่าน่าจะยืดเยื้อไม่ต่างจากศึกของ “รุ่นใหญ่” คุณหญิงพรทิยพ์ ณรงค์เดช ผู้เป็นแม่ และนี่คือปมร้าวลึกที่ทำลายภาพ “4 หนุ่ม 4 มุม” พ่อและลูกชายทั้ง 3 คน ที่ดูรักใคร่ กลมเกลียวกันของตระกูล “ณรงค์เดช” ลงอย่างสิ้นเชิง