ชวนสัมผัสเสน่ห์ “บางลำพู” กับ ไกด์เด็ก และ การพัฒนาชุมชนบางลำพู ผ่านทางกิจกรรมการท่องเที่ยว เกี่ยวกับวิถีชีวิตในชุมชน
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 กลุ่ม ปตท. ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนบางลำพู จัดกิจกรรม “ลำนำนที วารีสมโภช” เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีพระราชปณิธานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย และเผยแพร่พระราชกรณียกิจโครงการตามพระบรมราโชบายด้านการพัฒนาแหล่งน้ำทั่วประเทศ รวมถึงการปรับปรุงสภาพน้ำ และฟื้นฟูคูคลองรอบเกาะรัตนโกสินทร์ให้กลับมาสดใสอีกครั้ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนริมสองฝั่งคลองให้มีสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อสร้างโอกาสการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย

หากพูดถึงย่านบางลำพู ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เก่าแก่และเต็มไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ ที่ยังคงความมีชีวิตชีวาไว้จนถึงปัจจุบัน ตั้งอยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวังและแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้บางลำพูเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงความรุ่งเรืองในอดีต ซึ่งยังคงหลงเหลือผ่านอาคารบ้านเรือน โบราณสถาน วัดวาอาราม และชุมชนดั้งเดิม เสน่ห์ของบางลำพูไม่เพียงอยู่ที่ความงามทางสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่เรื่องราวของผู้คนที่อยู่อาศัยและทำงานในย่านนี้ด้วย


“น้องหมิว พรชิตา บัวประดิษฐ์” ตัวแทนไกด์เด็ก และ นักเล่าเรื่องชุมชน ได้เล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจ และ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของกลุ่มไกด์เด็ก และ การสนับสนุนต่างๆ ที่ชุมชนบางลำพูได้รับมาโดยตลอด ทีมงานไกด์เด็กบางลำพู นักเล่าเรื่องชุมชน ก็ได้นำเสนอผ่านทางกิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชน, ศิลปะ, งานประดิษฐ์, การแสดง, นิทรรศการ รวมถึงเรื่องราว เรื่องเล่าของบางลำพูมานำเสนอภายในงาน และยังมีร้านค้า, อาหาร, ขนม, เครื่องดื่มอร่อยๆ มาออกร้านจำหน่ายสินค้าอีกด้วย

ซึ่ง ไกด์เด็กบางลำพู ทุกคนเป็นลูกหลานชาวบางลำพูที่เกิดและเติบโตมาในย่านบางลำพู จึงทำให้มีความผูกพันธ์กับท้องที่ ได้อยู่กับวิถีชีวิตดังเดิม ได้รับฟังเรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์ รวมถึงได้สัมผัสกับสิ่งที่น่าสนใจหลายๆ อย่างของชุมชนในย่านนี้ จึงทำให้เข้าใจถึงคุณค่าและความสำคัญได้เป็นอย่างดี และทั้งหมดก็ส่งผลให้กลุ่มไกด์เด็กบางลำพูนั้นเป็นอีกหนึ่งกำลังที่ช่วยให้อาหาร , งานศิลปะ , งานฝีมือ , รวมถึงวิถีชีวิตริมคลองบางลำพูยังคงดำเนินต่อไป และสามารถต่อยอดเป็นสิ่งใหม่ๆ ในปัจจุบันได้
งานนี้ไม่เพียงแค่เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ยังเป็นการสร้างความภาคภูมิใจในท้องถิ่นและการส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น ไกด์เด็กแห่งชุมชนบางลำพู จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความหวังและการพัฒนาที่ยั่งยืนในชุมชนของพวกเขาเองอีกด้วย


ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงการบูรณาการที่ทำให้เกิดมิติระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนที่ทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนบางลำพูให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสืบต่อวัฒนธรรม, วิถีชีวิต และ ต่อยอดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงสร้างอาชีพที่มั่นคงให้คนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน