อัจฉริยะ ยื่นดีเอสไอให้เป็นคดีพิเศษ ดำเนินคดีอาญากับกิจการร่วมค้าและนอมินีทุนจีนกรณี ตึกสตง.ถล่ม ทำคนงานเสียชีวิตจำนวนมาก
เมื่อเวลา 13.30 น. นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำเอกสารหลักฐานเข้าร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เพื่อให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ และดำเนินคดีกับบริษัทกิจการร่วมค้า ไอทีดี – ซีอาร์อีซี คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด กับพวก และนอมินีทุนจีน กรณีมีส่วนก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท แต่ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานจนเกิดการถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว
นายอัจฉริยะ เปิดเผยว่าเมื่อต้นปี 2567 บริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจจากประเทศจีน ติดต่อมาที่ตนเองเพื่อจะว่าจ้างให้เป็นที่ปรึกษาบริษัท โดยทางบริษัทฯ ได้พูดเกี่ยวกับโครงการอาคาร สตง. และโครงการรถความเร็วสูงกรุงเทพ-หนองคาย แต่เมื่อตนเองทราบว่าทางบริษัทได้จ่ายเงินใต้โต๊ะเป็นเงินสด 100 ล้านบาท ให้กับผู้คุมงานโครงการอาคาร สตง. และใช้บริษัทนอมินีมาเป็นคนทำสัญญาในประเทศไทย เนื่องจากบริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ ไม่มีคุณสมบัติในการรับงานหลวงของไทย แต่มีเงินทุนจีนจำนวนมาก จึงมาร่วมลงทุนกับบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ที่กำลังขาดสภาพคล่องทางการเงิน สิ่งเหล่านี้ทำให้ตนเองรู้สึกว่ามีความไม่ตรงไปตรงมา จึงไม่ได้รับเป็นที่ปรึกษาให้โครงการดังกล่าว

แต่วันนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น และน่าเชื่อว่าขั้นตอนแต่ละขั้นตอนไม่น่าจะถูกต้อง ไม่น่าจะตรงกับการก่อสร้างจริง ตนเองจึงได้ร้องทุกข์ดีเอสไอให้รับเป็นคดีพิเศษ และขอให้ดำเนินคดีกับบริษัทที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้าง , บริษัทผู้รับออกแบบ , บริษัทผู้ควบคุมงานก่อสร้างอาคาร , สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินในฐานะผู้ว่าจ้างก่อสร้าง , บริษัทผู้จำหน่ายเหล็ก และบริษัทผู้จำหน่ายปูนคอนกรีตในการก่อสร้าง รวมไม่ต่ำกว่า 10 บริษัท ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 288 เจตนาเล็งเห็นผล รู้อยู่แล้วว่าก่อสร้างด้วยวัสดุที่ด้อยคุณภาพ หากอาคารพังลงมา เป็นเจตนาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก , ความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค , ความผิดเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม , ความผิดเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จากการที่บริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ มีบริษัทนอมินีทุนจีนอีกหลาย 10 บริษัท, และความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือการฮั้วประมูล โดยยืนยันว่าข้อหาเหล่านี้ เป็นคดีที่จะเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษได้ และเหมาะสมด้วยประการทั้งหมด
ทั้งนี้นายอัจฉริยะบอกด้วยว่า ตนเองเป็นวิศวกรโยธามานานกว่า 30 ปี จากที่เห็นลักษณะคอนกรีตหน้างาน มีลักษณะเปื่อยยุ่ย แตกง่าย มีการระเบิดของเสาคอนกรีต ที่คอนกรีตที่ยึดเกาะกับเหล็กบาง และคุณภาพเหล็กไม่ดี จนเกิดการระเบิดจากเสากลางลงมาเป็นชั้นๆ ดังนั้นหากดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ ก็ต้องส่งผู้เชี่ยวชาญไปตรวจสอบว่าค่ากำลังอัดของคอนกรีตได้ตามมาตรฐานหรือไม่ หากไม่ วิศวกรผู้คุมงานต้องรับผิดชอบด้วย และต้องไปดูตั้งแต่การออกแบบ ว่าผู้ออกแบบผิดพลาดหรือไม่ด้วย
ด้านพันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยเช่นเดียวกันกับอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าได้มีการสั่งการในการสอบสวนประเด็นอาคารของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ถล่มพังเสียหายในเหตุการณ์แผ่นดินไหว
โดยที่ประชุมให้พิจารณากฎหมาย 3 ฉบับ คือ 1.พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (หรือการฮั้วประมูล) เน้นไปที่ผู้ที่ทำการก่อสร้าง 2.บริษัทเป็นกิจการร่วมค้า จึงทำให้ส่วนหนึ่งเป็นบริษัทต่างชาติ จึงมีประเด็นข้อกฎหมายเรื่อง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และ 3.เรื่องเหล็กได้มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

เมื่อถามว่าจะสามารถรับเป็นคดีพิเศษได้เลยมั้ย พันตำรวจตรี วรณัน บอกว่าจะเร่งให้เร็วที่สุด แต่ตอนนี้ยัฃอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
ซึ่งการตรวจสอบจะดูว่าจะพฤติกรรมเข้าข่ายในข้อกฎหมายอะไรบ้าง เช่น กฎหมายฮั้วประมูล จะดูประเด็นการได้มาซึ่งสิทธิการทำสัญยากับรัฐว่าได้มาโดยถูกต้อง เป็นธรรมหรือไม่ / กฎหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เช่นเรื่อเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นไปตามมาตราฐารอุตสาหกรรมหรือไม่ / และกฎหมายนอมีนี เป็นกิจการร่วมค้ากับต่างชาติจะต้องดูว่ามีการถือหุ้นแทนกันหรือไม่
และหากมีการรับเป็นคดีพิเศษตามขั้นตอนแล้วหากเริ่มการสืบสวนจะต้องมีการเชิญสอบปากคำพยานกับบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสอบอยู่แล้ว