เดลี่เมล์ สื่อดังของอังกฤษรายงานว่า ดอน มาร์ซ นักศึกษาคณะชีววิทยาทางทะเล จากเมืองเคปทาวน์ของแอฟริกาได้ไปเจอปลาช่างไม้ ที่มีน้ำหนักเกือบ 3 กิโลกรัม ขณะที่ออกไปตกปลา ซึ่งเมื่อนำง้างปากของเจ้าปลาตัวนี้ดู ก็พบว่ามีสิ่งมีชีวิตบางอย่างอยู่ในปากของมัน มีตัวสีขาว ตาสีฟ้า มาร์ซจึงได้ถ่ายภาพเก็บไว้ และส่งให้อาจารย์ของเขาดู โดยอาจารย์ของเขาก็บอกว่าสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในปากของปลาคือปรสิต ที่อาศัยเกาะลิ้นปลา โดยอาจารย์ของมาร์ซยอมรับว่านี่เป็นปรสิตลิ้นปลาชนิดที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน ด้วยลักษณะที่แปลกที่มีตาสีฟ้า และมีหนวด
ทั้งนี้ ปรสิตกินลิ้นดังกล่าวจะดูดเลือด และอาศัยเกาะอยู่ในลิ้นของปลาไปตลอดชีวิต โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพิ่งมีการศึกษาปรสิตกินลิ้นอย่างจริงจัง ทั้งที่ปรสิตชนิดดังกล่าวเป็นที่รู้จักมาหลายศตวรรษ โดยขณะนี้มีการระบุสายพันธุ์ของปรสิตกินลิ้นได้มากกว่า 280 ชนิดแล้ว

เป็นที่เชื่อกันว่าในช่วงเริ่มต้นของชีวิต ปรสิตชนิดนี้จะเป็นตัวผู้ ลอยไปตามมหาสมุทรเพื่อหาปลาอาศัยร่างอยู่ เมื่อเจอปลาที่เหมาะสมแล้ว ปรสิตก็จะว่ายเข้าไปอยู่ในเหงือก เกาะดูดเลือดที่ลิ้นปลา และอาศัยอยู่แบบยาวๆ
ในเวลาต่อมาจะกลายสภาพเป็นตัวเมีย มีขนาดตัวและขาที่ใหญ่ขึ้น ขณะที่สายตาของมันก็จะเริ่มพร่ามัว มองเห็นได้น้อยลง และเมื่อลิ้นของปลามีเลือดไหลเวียนน้อยลง ปรสิตกินลิ้นก็จะเอาตัวเองติดกับกล้ามเนื้อลิ้น และปลาจะใช้ตัวกินลิ้นได้เหมือนลิ้นปกติ
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Daily Mail