อ.เจษฎา เผยเหตุผลทางธรณีวิทยา พระธาตุอินทร์แขวน ก้อนหินยักษ์แห่งศรัทธาของเมียนมา ทำไมไม่เคลื่อน หลังแผ่นดินไหวรุนแรงในรอบ 100 ปี
กรณีโซเชียลมีการแชร์คลิปแผ่นดินไหวเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา บริเวณ “พระธาตุอินทร์แขวน” 1 ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของประเทศ ซึ่งพบว่าบริเวณยอดพระธาตุเกิดการสั่นไหวไปมาตามแรงสั่นสะเทือนที่รุนแรงขนาด 8.2 แต่ปรากกฏว่า ก้อนหินยักษ์แห่งศรัทธาของเมียนมาน้ำหนักหลายร้อยตันนี้กลับยังคงตั้งอยู่ริมผาแบบท้าทายแรงดึงดูดของโลกเช่นเดิม ไม่มีการเคลื่อนแต่อย่างใด ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นเพราะเหตุใด และผู้คนจำนวนมากก็แห่สาธุกับความมหัศจรรย์นี้
อย่างไรก็ตาม วันที่ 2 เมษายน 2568 รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้โพสต์ Fackbook : Jessada Denduangboripant https://www.facebook.com/JessadaDenduangboripant/posts/pfbid0MdPW4n8iUgK1EL2iecpsxfpCkcVcyQRm2kMJUNTaMe2iAQB35urf6oLyudung4Lml ให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับ พระธาตุอินทร์แขวน สรุปใจความได้ว่า มีหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าก้อนหินพระธาตุอินทร์แขวนนี้ เกิดจากการที่ในอดีตมีก้อนหินเคลื่อนที่หล่นลงมา แล้วติดคาอยู่ริมเพิงผาของยอดเขาพวงลวง โดยมีจุดศูนย์ถ่วงที่สมดุลพอดี ทำให้น้ำหนักไปอยู่บนตัวหน้าผามากกว่าออกไปทางส่วนที่ยื่นออกไป แต่ความจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้น ก้อนหินที่ตั้งอยู่ของพระธาตุอินทร์แขวนนี้ จริง ๆ แล้ว เป็น “หินก้อนเดียวกันกับตัวหน้าผา”

โดยในทางธรณีวิทยานั้น ก้อนหินที่เห็นตั้งอยู่บนหน้าผา เป็นผลจากการที่น้ำไปกัดเซาะ (erosion) ชั้นหินแกรนิตที่แตกร้าวในแนวตั้งและแนวนอน ทำให้น้ำไหลไปตามแนวรอยแยกของหิน และกัดเซาะเปลี่ยนแปรรูปร่างของหินอย่างช้า ๆ เป็นเวลาอันยาวนาน จนทำให้ก้อนหินดูเป็นรูปกลมเกลี้ยงขึ้น และดูหลอกตา เหมือนกับว่าก้อนหินนี้ถูกยกขึ้นไปวางไว้บนหน้าผาอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งการกัดเซาะดังกล่าวเป็นไปตามธรรมชาติที่ปรากฏตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เพียงแต่หาดูได้ยากสักหน่อย
ปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาแบบนี้ อาจจะเรียกว่า เป็น balancing rock หรือหินสมดุล (หรือ balanced rock หรือ precarious boulder) ซึ่งเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ และทำให้เห็นก้อนหินขนาดใหญ่ไปตั้งอยู่บนก้อนหินก้อนอื่นหรือหน้าผา โดยหินสมดุลมีทั้งแบบที่เกิดจากการที่หินก้อนใหญ่ไหลมาตามการเคลื่อนที่อันทรงพลังของ “ธารน้ำแข็ง Glacial” จนทำให้มันย้ายไปอยู่ที่อื่นได้อย่างน่ามหัศจรรย์ และสังเกตได้ว่าจะเป็นหินแร่คนละประเภทกัน ขณะที่หินสมดุลแบบที่พบที่พระธาตุอินทร์แขวนนั้น จะเป็นผลจากการเกิดการกัดเซาะ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากการกัดเซาะของน้ำ ลม หรือสารเคมีต่าง ๆ ลงไปบนชั้นหินที่ตำแหน่งนั้น
และชื่อ “หินสมดุล” นี้ อาจจะทำให้เข้าใจผิดว่าหินก้อนหนึ่งไปวางตัวอยู่บนหินอีกก้อนหนึ่งอย่างสมดุล ไม่ร่วงหล่นลงมา ทั้งที่จริง ๆ แล้ว หินทั้งสองยังเชื่อมต่อกันอย่างแน่นหนาที่ฐานของหิน
สำหรับ “พระธาตุอินทร์แขวน” หรือที่คนพม่าเรียกว่า “พระธาตุไจที่โย่” เป็นสถานที่จาริกแสวงบุญของพุทธศาสนิกชน ตั้งอยู่ในรัฐมอญ ประเทศพม่า เป็นพระเจดีย์ขนาดเล็กสร้างขึ้นบนก้อนหินแกรนิต ที่ปิดด้วยทองคำเปลว ซึ่งพระธาตุไจที่โย่ นับเป็น 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของชาวพม่า ตัวก้อนหินนั้นมีความสูงประมาณ 7.6 เมตร และมีเส้นรอบวงประมาณ 15 เมตร ส่วนพระเจดีย์เหนือหิน มีความสูงประมาณ 7.3 เมตร ตั้งอยู่บนแท่นหินธรรมชาติ ที่ดูเหมือนเป็นฐานของพระธาตุ ตั้งอยู่บนระนาบที่เอียงและบริเวณที่สัมผัสมีขนาดเล็กมาก