สภาฯ คว่ำ! พ.ร.บ.รับรองทางเพศ ‘เปลี่ยนคำนำหน้านาม’ หลัง พรรคก้าวไกล เสนอเข้าวาระเข้าสภา ด้วยคะแนน 152 ต่อ 256 เสียง
พ.ร.บ.รับรองทางเพศ : สืบเนื่องจาก วานนี้ (21 ก.พ. 2567) นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ… ที่ นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะเป็นผู้เสนอ ก่อนเข้าสู่วาระ นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สส.พรรคเพื่อไทย เสนอให้เจ้าของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว พิจารณาถอนร่าง พ.ร.บ.ออกไปก่อน เพื่อรอร่างของภาคประชาชนที่มีแนวคิดคล้ายๆกันที่จะเสนอเข้ามาถึง 2 ฉบับ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอย่างมาก จึงมีความจำเป็นต้องรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งที่อยูในกลุ่ม LGBTQ และไม่ได้เป็น LGBTQ เพื่อให้กฎหมายเป็นของทุกกลุ่ม
แต่ นายธัญวัจน์ ยืนยันไม่ถอนร่างฯออก เนื่องจากเห็นว่าสามารถสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมได้อยู่แล้ว และสภาฯก็เปิดกว้างอยู่แล้ว และเรื่องนี้มีการผลักดันกันตั้งแต่ปี 2559 แล้ว ทำให้ที่ประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อไป
นายธัญวัจน์ ชี้แจงเหตุผลว่า โดยที่รัฐธรรมนูญ รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลยอมได้รับความคุ้มครอง แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรับรองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงส่งผลให้เกิดการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเอกสารของรัฐไทย ยังกำหนดให้ใช้คำนำหน้านามซึ่งถือตามเพศกำเนิดได้แก่ เด็กชาย เด็กหญิง นาย นางสาว และนาง ส่งผลให้บุคคลข้ามเพศและผู้หลากหลายทางเพศอื่นประสบปัญหาในการแสดงตัวตน การจะตัดสินใจกำหนดวิถีทางเพศ และกระทบต่อการดำเนินชีวิต จึงสมควรมีกฎหมายออกมาคุ้มครอง

“หากเราจะเปลี่ยนแปลงการประกอบสร้างสังคมใหม่ จำเป็นต้องคืนเจตจำนงเรื่องของการระบุเพศให้กับพวกเขา เรื่องเพศเป็นเรื่องสำนึกภายในที่จะบอกตนเองได้ว่าตัวเองเป็นอะไร และอยากจะดำเนินชีวิตอย่างไร ทั้งวิถีและการแสดงออก” นายธัญวัจน์ กล่าว
โดยหลักการสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้คือ Self-Determination หรือการกำหนดเพศด้วยตัวเอง นี่คือจุดเริ่มที่เราจะเปลี่ยนแปลงการประกอบสร้าง และมีอีกหลายก้าวสำคัญที่ต้องผลักดันเพื่อให้สังคมได้โอบรับกับความหลากหลาย เพราะเพศมีคำอธิบายมากกว่าเรื่องของร่างกายและกายภาพซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ได้นิยามอัตลักษณ์ทางเพศว่า คือการที่บุคคลหนึ่งรับรู้ต่อตนเองว่าคือใคร และเป็นเพศอะไร ซึ่งจะสอดคล้องกับสิ่งที่สังคมกำหนดหรือไม่ก็ได้ หมายรวมถึงการแสดงออกทางเพศด้วย ทำให้เราจำเป็นต้องออกกฎหมายที่คำนึงถึงเรื่องของอัตลักษณ์ทางเพศไม่ใช่แค่เพศสภาพทางเพศเท่านั้น จากนั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นโดย สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุน
ขณะที่ สส.พรรครัฐบาลทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชาติ อภิปรายคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้
นายธีระชัย แสนแก้ว พรรคเพื่อไทย ระบุว่า การออกกฎหมายต้องสอดคล้องกับบริบทสังคม หากกฎหมายสุดโต่งเกินไปอาจจะสร้างปัญหาตามมา อาจเป็นต้นเหตุของการก่ออาชญากรรม-หลอกลวง หรือ ลวนลามบุคคลอีกเพศหนึ่งได้
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า “คำนำหน้าชื่อไม่ว่าจะเป็น นาย นาง นางสาว ที่เป็นการแบ่งเพศตามสภาพมาตั้งแต่กำเนิด” ตนมีความห่วงใยและความกังวลในการเปลี่ยนได้ตามความสมัครใจ เพราะในต่างประเทศสามารถให้เปลี่ยนคำนำหน้าได้ มีกฎ เงื่อนไขยากง่ายแตกต่างกันออกไป
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.การรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยย้ำว่า เรื่องของคำเปลี่ยนคำนำหน้านาม จำเป็นต้องรอบคอบเพื่อไม่ให้กระทบ หรือ ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น

“รู้สึกภาคภูมิใจทุกครั้งที่สภาฯเปิดพื้นที่ให้กับการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพมนุษยชน และรู้สึกเท่ที่สภาไทยพูดถึง กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีหลายเรื่องที่ให้ความเป็นธรรม เช่น นิติสินสมรส และเสรีภาพขั้นพื้นฐานอื่น ๆ แต่เรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้านาม ต้องรับฟังให้รอบ” นายอนุสรณ์ กล่าว
หลังการอภิปราย
สมาชิกลงคะแนน
เห็นด้วย 152 เสียง
ไม่เห็นด้วย 256 เสียง
งดออกเสียง 1 เสียง
ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ถือว่าที่ประชุม ไม่รับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้