อุทาหรณ์ เครื่องอบโอโซน ทำหมาแมวตายสลด 5 ชีวิต เจ้าของงง ไม่ได้เปิดสวิตช์แต่เสียบปลั๊กทิ้งไว้ ด้าน อ.เจษฎา ชี้เป็นก๊าซพิษอันตราย แนะวิธีใช้อย่างไรให้ปลอดภัย
กลายเป็นกรณีศึกษาที่สร้างความสะเทือนใจและเป็นอุทาหรณ์สำหรับคนเลี้ยงสัตว์ที่กำลังได้รับความสนใจบนโซเชียลมีเดีย จากกรณีที่ คุณเกรซ ได้แชร์เหตุการณ์การสูญเสียหมาแมวแสนรักไปตลอดกาลจากการใช้เครื่องอบโอโซน
ทั้งนี้ คุณเกรซ ได้เล่าบทเรียนที่แสนเจ็บปวดนี้ผ่านเฟซบุ๊ก Grace Kotchapan เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2568 ระบุว่า วันนั้นเธอทำความสะอาดห้องแมว ซึ่งมีน้องแมวทั้งหมด 12 ตัว น้องหมาพันธุ์เล็ก 5 ตัว จนช่วงเย็นก็เอาข้าวให้เด็ก ๆ กินปกติ ก่อนจะกลับมาเก็บอึและเปิดแอร์ให้ช่วงเที่ยงคืนครึ่ง ตอนนั้นไม่รู้ว่าเครื่องโอโซนมันทำงานอยู่ เพราะตอนปิดประตูเกรซไม่ได้เปิดเครื่อง แต่ไม่ได้เอาปลั๊กออก ตัวเครื่องเคยเคลมมาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งเครื่องนี้ตามความเข้าใจคือ ช่วยให้อากาศข้างในเหมือนปรุงแต่งเป็นอากาศธรรมชาติและมีการฆ่าเชื้อ คล้ายกับการทำโอโซนในรถเพื่อไม่ให้มีกลิ่นเหม็น

คุณเกรซ เล่าต่อว่า ตอนนั้นเกรซก็ไปบอกเด็ก ๆ ว่าหลับฝันดีน้า พรุ่งนี้เจอกัน แล้วก็ขึ้นมานอน ก็ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย จนตอนเช้า 7 โมง พ่อลงไปปล่อยน้องหมา เอาหมาเล็กออกจากห้องแมวทั้งหมด 5 ตัว แต่พ่อไม่รู้ว่าเป็นกลิ่นของเครื่องโอโซน พอเกรซลงไป พ่อบอกว่าหมาไม่มีแรง เป็นอะไรไม่รู้ ทุกตัวแหงนคอ ทำเสียงครืด ๆ อาการเดียวกันหมด ตอนแรกนึกว่าเป็นแค่หมา ก็เลยสังเกตอาการอีกแปบนึง แล้วพาหมาไปหาหมอ 3 ตัวที่อาการดูแย่ ทีนี้พอไปถึงโรงพยาบาลสัตว์ คุณหมอก็อธิบายอยู่นานมาก กระทั่ง 10 โมงครึ่ง ก็กลับบ้านมาเช็กห้องแมว เปิดเข้าไป พ่อเห็นน้องแมวนอนตายเกลื่อนในห้อง หน้าต่างก็ไม่ได้เปิด ก็เหมือนกับรมควันพิษ เพราะโอโซนทำงานจนอากาศเป็นพิษ ปรากกฏว่าแมวตายทั้งหมด 4 ตัว
“เครื่องโอโซนมันทำงานเอง เกรซไม่ได้ถอดปลั๊กออก แต่เกรซไม่ได้เปิด”
จากเหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากน้องแมวที่ตายในห้องแมว 4 ตัว คุณเกรซยังสูญเสียน้องหมาอีก 1 ตัว คือน้องมาตัง รวมเป็น 5 ชีวิตที่จากไปตลอดกาล และเธอยังอัปเดตเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2568 ด้วยว่า มีน้องหมาพันธุ์เล็กที่รอดชีวิตจนได้ออกจากโรงพยาบาลสัตว์แล้ว 1 ตัว ยังเหลือรอปาฏิหาริย์อีก 2 ชีวิต

อ.เจษฎา ไขข้อสงสัย ก๊าซโอโซน เป็นก๊าซพิษ วิธีป้องกันกับสัตว์เลี้ยง
ด้าน อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อธิบายเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ระบุว่า “ก๊าซโอโซน เป็นก๊าซพิษ” ครับ จะนำมาใช้กัน ก็ต้องระมัดระวังสูงมาก ๆ โดยเฉพาะกับในห้องที่มีคนและสัตว์เลี้ยงอาศัยอยู่ครับ
แม้ว่า โอโซน (O3) จะเป็นก๊าซที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น เกิดจากฟ้าผ่า หรือแสงจากดวงอาทิตย์ ซึ่งโอโซนเกิดจากการรวมตัวกันของก๊าซออกซิเจน และอะตอมออกซิเจน โดยการกระตุ้นของรังสีอัลตราไวโอเลตซี (UV-C) ปรากฏอยู่ในชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ (Stratosphere) หรือชั้นที่มีโอโซนหนาแน่นที่สุด ทำหน้าที่เป็นเกราะคุ้มกันปกป้องสิ่งมีชีวิตบนโลก จากรังสีที่มาจากดวงอาทิตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรังสีอัลตราไวโอเลตบี (UV-B) ที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
แต่ขอย้ำว่า “โอโซนเป็นก๊าซพิษ” เป็นก๊าซที่ทำอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์เลี้ยงได้ หากสูดโอโซนเข้าไปมาก ๆ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปวดศีรษะ, แน่นท้อง, ท้องเสีย และอาเจียน ส่งผลเสียกับปอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีระบบภูมิต้านทานไม่แข็งแรงพอ.. การอยู่ในพื้นที่ที่มีก๊าซโอโซนจากอุตสาหกรรมและการคมนาคมมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรม และย่านริมถนนในกรุงเทพมหานคร ก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
แม้ก๊าซโอโซนจะถูกจัดให้เป็นหนึ่งในก๊าซพิษ แต่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น นำไปใช้เป็นสารซักฟอก ช่วยในการฟอกสี สามารถนำไปบำบัดน้ำเสียให้น้ำสะอาดได้ นอกจากนี้ ยังช่วยยับยั้งการเติบโตของเชื้อโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ทั้งยังช่วยสลายก๊าซพิษต่าง ๆ ทำให้อากาศสะอาดบริสุทธิ์ขึ้น ดังเช่นที่เอามาทำเป็นพวก “เครื่องอบโอโซน”
ขอเอาคำแนะนำเรื่อง “การอบโอโซนอย่างไรให้ปลอดภัย” (รวบรวมโดย บ. CKKEQUIPMED) มาเผยแพร่เป็นแนวทางสำหรับบ้านที่ใช้เครื่องอบโอโซนนะครับ
ทำความรู้จักโอโซนและการอบโอโซนก่อน
1) ทำความรู้จักโอโซนและการอบโอโซนก่อน
– โอโซนคือโมเลกุลที่ประกอบด้วยออกซิเจน 3 อะตอม ซึ่งมีคุณสมบัติต่าง ๆ รวมถึงการฆ่าเชื้อโรค จึงมีการนำโอโซนมาใช้ในการกำจัดสิ่งไม่พึงประสงค์บางชนิดในอากาศ หรือที่เรียกว่า “การอบโอโซน”
– เครื่องผลิตโอโซน จะแปลงออกซิเจนให้กลายเป็นโอโซน อะตอมออกซิเจนอะตอมหนึ่งในโอโซน จะแยกตัวออกมาจับตัวกับสิ่งไม่พึงประสงค์ในอากาศ แล้วระงับการทำงานของสิ่งเหล่านั้น
– ส่วนโอโซน เมื่อเหลืออะตอมออกซิเจน 2 อะตอม ก็เท่ากับว่าได้คืนสภาพเป็นออกซิเจน ที่มนุษย์ใช้หายใจโดยอัตโนมัติ
– ต้องใช้งานด้วยความระมัดระวัง เพราะโอโซนมีพิษกับระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมาก อาจเกิดอาการไอ คันคอ หายใจไม่ออก รวมทั้งอาจทำให้เนื้อเยื่อปอดเสียหายได้
2) พื้นที่ที่มีการอบโอโซนไม่ควรมีคนหรือสัตว์เลี้ยงอยู่
– หากจะปล่อยโอโซนออกมาฆ่าเชื้อหรือกำจัดสารเคมีต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องปล่อยโอโซนออกมา ในระดับที่ “เกิน” ค่ามาตรฐานที่มนุษย์รับได้
– ในไทย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศ ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นโอโซนต่อ 1 ชั่วโมงไม่ให้เกิน 0.10 ppm และต่อ 8 ชั่วโมงไม่ให้เกิน 0.07 ppm)
– การอบโอโซน จึงควรทำในพื้นที่ที่ไม่มีคนอยู่ในเวลานั้น ผู้อบโอโซนไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้อง เพราะเครื่องผลิตโอโซน มักจะตั้งเวลาการทำงานได้
– ควรตรวจสอบให้แน่ชัดเช่นกันว่า ไม่มีสัตว์เลี้ยง หรือพืชกระถาง คงเหลืออยู่ในพื้นที่
3) อย่าลืมปิดพื้นที่ที่มีการอบโอโซน
– โอโซนอาจเล็ดรอดออกไปสู่พื้นที่ใกล้เคียง และก่ออันตรายกับผู้คนในบริเวณดังกล่าว จึงควรอบโอโซนในพื้นที่ปิด
– ปิดประตูและหน้าต่างของพื้นที่ที่มีการอบโอโซนอย่างแน่นหนา และตรวจสอบให้แน่ใจว่า ไม่มีรูหรือช่องเปิด ที่จะทำให้โอโซนแพร่กระจายออกมาจากพื้นที่นั้นได้
4) ระมัดระวังวัสดุที่อาจถูกโอโซนกัดกร่อน
– สิ่งของบางประเภทอาจเสียหายจากฤทธิ์กัดกร่อนของโอโซน สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางแตกหัก เส้นใยผ้าจะเปราะบางลง สีย้อมผ้าและเม็ดสีบางประเภทในภาพเขียน จะจางลง
– ดังนั้น หากต้องการรักษาสภาพสิ่งของไม่ให้ถูกโอโซนกัดกร่อน ก็ควรจะนำสิ่งของเหล่านั้น ออกไปจากพื้นที่เสียก่อน
5) หลังอบโอโซนเสร็จ รอให้โอโซนสลายตัวเสียก่อน
– อาจจะต้องรอครึ่งชั่วโมง ถึง 2 ชั่วโมงเพื่อให้โอโซนที่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่สลายตัว ก่อนจะกลับเข้าไปในพื้นที่อีกครั้ง
– หากโอโซนยังหลงเหลือในปริมาณมาก มนุษย์ก็สามารถได้กลิ่นดังกล่าว
– อย่างไรก็ตาม โอโซนสามารถทำให้มนุษย์สูญเสียความสามารถในการได้กลิ่นโอโซนอย่างรวดเร็ว
– ดังนั้น การไม่ได้กลิ่น จึงไม่ได้หมายความว่า ไม่มีโอโซน
6) กำจัดสาเหตุของสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ที่ต้นตอหากเป็นไปได้
– ควรจัดการกับแหล่งที่มา เช่น ถ้าในห้องมีกลิ่นเหม็นเพราะมีขยะอยู่ ก็ควรจัดการขยะให้เรียบร้อย มิฉะนั้น ต่อให้โอโซนดับกลิ่นเหม็นไปแล้ว กลิ่นก็จะยังกลับมา
7) ปฏิบัติตามคู่มือและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนการใช้งาน
– โอโซนอาจทำปฏิกิริยาทางเคมีกับสารเคมีที่มีอยู่ในพื้นที่ ทำให้เกิดสารที่อาจทำให้ระคายเคืองเมื่อมีปริมาณมากเพียงพอได้
– ผู้ใช้งานจึงควรจะปฏิบัติตามคู่มือของเครื่องผลิตโอโซน และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนการใช้งาน

ขอบคุณข้อมูล Grace Kotchapan, Jessada Denduangboripant, ckkequipmed