เปิดข้อเปรียบเทียบ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ระหว่าง รัฐบาลเศรษฐา พรรคเพื่อไทย กับ รัฐบาลประยุทธ์ พรรคพลังประชารัฐ แตกต่างกันอย่างไร
จากการแถลง “แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ” ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อฟื้นฟูความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวัง และสร้างความมั่นคงให้คนไทย โดยให้รัฐเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ บูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนเพื่อทำงานตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครองที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน และฝ่ายตำรวจที่ช่วยกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมาย นอกจากการแก้ไขหนี้แล้ว รัฐบาลก็จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนขึ้นไปถึงระดับมหภาค ยกระดับความเป็นอยู่ ทำให้ไม่กลับไปมีหนี้ล้นพ้นตัวอีก ปัญหาหนี้นอกระบบกัดกร่อนสังคมไทยมายาวนานและเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมหลายประการ รัฐบาลประเมินว่าจำนวนครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบว่ามีถึงประมาณ 23.5 ล้านครัวเรือน คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้อาจประเมินไว้ค่อนข้างต่ำ ปัญหาจริง ๆ น่าจะมีมากกว่านั้น คนที่ไม่ได้เป็นหนี้อาจสงสัยว่า ทำไมต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ หนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบ ‘ต่อทุกคน’ ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศต้องเจอกับความเปราะบางที่เกิดขึ้นจากหนี้สินที่ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมด พวกเขาไม่สามารถทำตามความฝันได้ ปิดโอกาสการต่อยอดและไม่สามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพ ส่งผลกระทบเป็นสืบเนื่องไปในทุกภาคส่วนของสังคม สำหรับนายกรัฐมนตรี หนี้นอกระบบถือเป็น ‘การค้าทาสในยุคใหม่’ (modern world slavery) ที่พรากอิสรภาพ ความฝันไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้
- แจ้งข่าวประชาชน จ่ายเงินชาวนา เริ่มวันนี้ เช็กกำหนดการรับเงินได้ ที่นี่!
- ขั้นตอนการลงทะเบียนแก้ไขหนี้นอกระบบ ด้วยแอปฯ ThaID เริ่ม 1 ธ.ค. 66
- กระทรวงยุติธรรม โร่แจง ย้ายอธิบดี DSI ครั้งนี้เกี่ยวกับ หมูเถื่อน หรือไม่?
โครงการ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ของ “รัฐบาลเศรษฐา”
ขั้นตอน : ไกล่เกลี่ย
กระทรวงมหาดไทย มีกลไกการทำงานในแต่ละพื้นที่ที่มีความเข้มแข็ง ใกล้ชิดกับประชาชน ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ ตั้งแต่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ถึงผู้ใหญ่บ้าน
-ประชาชนที่ประสบปัญหาหรือต้องการเปลี่ยนหนี้นอกระบบเป็นในระบบ เพื่อจะได้มีภาระในการผ่อนชำระน้อยลง สามารถลงทะเบียนที่ ศูนย์ดำรงธรรม ณ ศาลากลางและที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทุกแห่ง
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะบังคับใช้กฎหมายในการสืบสวน จับกุม และดำเนินคดีกับผู้กระทำความคิดผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ
-กำหนดแผนปฏิบัติตั้งแต่สำรวจข้อมูลในพื้นที่ เพื่อค้นหาเป้าหมาย โดยสั่งการให้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธร 1-9 เอกซเรย์พื้นที่และส่งข้อมูลขึ้นบัญชีผู้ประกอบการหนี้นอกระบบทั้งหมด เพื่อพิจารณาดำเนินการโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้
-ตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563 โดยมี สายด่วน 1599 เป็นหมายเลขรับแจ้งเหตุ
ขั้นตอน : ปรับโครงสร้างหนี้
กระทรวงการคลังในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางการเงินจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งระยะเวลา เงื่อนไข และกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนชดใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยจะระมัดระวังไม่สร้างภาวะอันตรายทางศีลธรรม (moral hazard) และมีมาตรการต่าง ๆ รองรับเพิ่มเติม ได้แก่
-ธนาคารออมสิน มีโครงการให้กู้ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี และโครงการสินเชื่อ สำหรับอาชีพอิสระรายย่อย เพื่อการส่งเสริมอาชีพ ให้กู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ระยะเวลาสูงสุด 8 ปี อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย
-ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีโครงการรองรับที่ดินติดจำนองกับทางหนี้นอกระบบ โดยมีวงเงินสำหรับเกษตรกรต่อรายไม่เกิน 2.5 ล้านบาท
-สำหรับผู้ประกอบการให้กู้ยืมเงินที่สนใจจะดำเนินการให้ถูกกฎหมาย รัฐบาลมีช่องทางให้ดำเนินการขออนุญาตเรื่องของพิโกไฟแนนซ์ โดยต้องมีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาทเท่านั้น
นอกจากการแก้ไขหนี้แล้ว นายกรัฐมนตรียืนยันว่า รัฐบาลก็จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนขึ้นไปถึงระดับมหภาค ยกระดับความเป็นอยู่ ทำให้ไม่กลับไปมีหนี้ล้นพ้นตัวอีก

โครงการ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ของ “รัฐบาลประยุทธ์”
จากการสืบค้นข้อมูล หากย้อนกลับไป ปี 2563 รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเช่นกัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
-ออกพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ซึ่งเพิ่มโทษกับเจ้าหนี้นอกระบบ และเปิดช่องทางให้เจ้าหนี้นอกระบบสามารถจดทะเบียนเป็นผู้ให้สินเชื่อในระบบได้
-ลูกหนี้สามารถร้องทุกข์และขอคำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบได้ที่ “จุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ” ที่ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขา ซึ่งจะช่วยประสานคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบในทุกจังหวัด เพื่อช่วยเจรจาระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้
-การจัดหาแหล่งเงินในระบบให้ เมื่อไกล่เกลี่ยจนมูลหนี้เป็นธรรมแล้ว โดยรัฐบาลได้สนับสนุนให้มีสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ (PICO Finance)
-ฟื้นฟูศักยภาพลูกหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำเกินไป คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบในทุกจังหวัด จะช่วยฟื้นฟูอาชีพ ปลูกฝังความรู้และวินัยทางการเงิน ฝึกอบรมอาชีพ หรือพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน
-สร้างภูมิคุ้มกัน ภาครัฐจะพัฒนาเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชนให้ทำหน้าที่ทดแทนเจ้าหนี้นอกระบบ พร้อมกับให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนและจัดทำฐานข้อมูลหนี้นอกระบบ เพื่อใช้กำหนดนโยบายที่เหมาะสมและตรงเป้าหมายต่อไป
