นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล ชวนจับตา อาทิตย์หน้าถึงคิว แก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันพุธที่ 25 ตุลาคม 2566
วันนี้ 21 ตุลาคม 2566 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล ได้ออกมาเคลื่อนไหวผ่านทวิตเตอร์ (X) Parit Wacharasindhu (Itim) โดยเป็นการพูดถึงวาระการประชุมรัฐสภาในสัปดาห์หน้า ซึ่งตรงกับวันพุธที่ 25 ตุลาคม 2566 โดยจะมีญัตติคิวแรกของการประชุมคือ ญัตติประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเสนอโดย พรรคก้าวไกล ทางด้าน นายพริษฐ์ จึงอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนจับตามองการประชุมดังกล่าว เนื่องจากเป็นการเสนอ จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ หรือที่ประชาชนเข้าใจกันว่า แก้รัฐธรรมนูญ นั้นเอง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
จากหนังสือนัดประชุมสภาฯวันที่ 25-26 ตุลาคม ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อวานนี้ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าญัตติที่เข้าคิวเป็นอันดับแรกสำหรับการพิจารณาในการประชุมครั้งถัดไป คือญัตติเสนอให้จัดประชามติเพื่อเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เสนอโดยผมและพรรคก้าวไกล
พรรคก้าวไกลเรายืนยันว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยเป็นภารกิจสำคัญต่ออนาคตการเมืองไทย โดยหลายฝ่ายเคยได้ข้อสรุปร่วมกันว่าขั้นตอนแรกของกระบวนการดังกล่าว คือการจัดประชามติเพื่อถามประชาชนว่าอยากให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
ในทางกฎหมาย การตัดสินใจจัดประชามตินั้น สามารถกระทำได้ผ่าน 3 ช่องทาง
- (1) ครม. ออกมติด้วยตนเอง
- (2) ประชาชนเข้าชื่อ 50,000 คน เพื่อเสนอให้ ครม. อนุมัติ
- (3) สมาชิกรัฐสภาเสนอให้สภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาเห็นชอบ
ในฐานะพรรคฝ่ายค้านซึ่งไม่ได้อยู่ใน ครม. เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ผมและพรรคก้าวไกลจึงได้ยื่นญัตติเข้าสู่สภาฯ เพื่อใช้ช่องทาง (3) ในการเสนอให้มีการจัดประชามติด้วยคำถามที่ว่า
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน?”
แม้รัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องแนวทางการจัดทำประชามติ แต่ผมเชื่อว่าการใช้กลไกและพื้นที่สภาฯสำหรับการอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว จะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของรัฐบาล
ยิ่งไปกว่านั้น ผมหวังว่าสมาชิกจากทุกพรรคการเมืองจะร่วมกันสนับสนุนญัตติดังกล่าว เพื่อให้ข้อเสนอเรื่องการจัดประชามติเกี่ยวกับจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เดินหน้าต่อไปได้อย่างคู่ขนานกันระหว่างกลไกของสภาฯ และกลไกของรัฐบาล โดยเหตุผลที่เราเสนอคำถามประชามติตามที่ปรากฎในญัตตินั้น เป็นเพราะว่า
- 1. เป็นคำถามประชามติ ที่ถามประชาชนถึงหลักการสำคัญว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง
- 2. เป็นคำถามประชามติ ที่ตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย ไม่ชี้นำ
- 3. เป็นคำถามประชามติ ที่ทุกพรรคการเมืองหลักจากสภาฯ ชุดที่แล้ว เคยลงมติเห็นชอบมาแล้วอย่างเป็นเอกฉันท์ ไม่ถึง 1 ปีที่ผ่านมาในวันที่ 3 พ.ย. 2565
สัปดาห์หน้า ผมอยากเชิญชวนทุกคนติดตามวาระเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะถูกพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร – นอกเหนือจากการพิจารณาญัตติเรื่องประชามติรัฐธรรมนูญที่จะเป็นคิวแรกในการประชุมสภาฯวันพุธ (25 ตุลาคม) ในการประชุมคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองในวันพฤหัสบดี (26 ตุลาคม) จะมีการตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นเพื่อจัดทำข้อเสนอและทางเลือกเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งที่สามารถนำมาใช้ในการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ตามมติของคณะกรรมาธิการที่เห็นชอบหลักการดังกล่าวไปแล้ว ในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

ที่มา : Parit Wacharasindhu (Itim)
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY