โควิด19 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. และอธิบดีกรมที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดงาน “Smart Living with COVID-19 เปิดประเทศปลอดภัย เศรษฐกิจไทยไปรอด” พร้อมทำความเข้าใจเชิงลึกถึงนโยบายการเปิดประเทศอย่างไรให้คนไทยปลอดภัยและเศรษฐกิจไทยไปรอด

นายอนุทิน เผยว่า จากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้นในการล็อกดาวน์ ทำให้ส่งผลกระทบกับชีวิตประชาชนอย่างมาก ขณะนี้ประเทศไทยสามารถควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี รัฐบาลมีนโยบายให้คลายล็อกเปิดประเทศบนพื้นฐานความปลอดภัยของประชาชน กระทรวงสาธารณสุขจึงนำประสบการณ์และองค์ความรู้มาปรับเป็นมาตรการควบคุมโรค เพื่อเตรียมพร้อมรับมือการทยอยเปิดประเทศ
ทั้งด่านเฝ้าระวังคัดกรองและควบคุมโรค ทีมสอบสวนโรคนับพันทีมที่พร้อมลุยงานเร่งด่วน มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 1 ล้านคนในการเฝ้าระวัง สถานกักกันโรคทุกประเภทมีห้องรองรับมากกว่า 8,000 ห้อง มีห้องปฏิบัติการในการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 จัดเตรียมยาฟาวิพิราเวียร์กว่า 5 แสนเม็ด ห้องแยกโรคและเตียงเพื่อรองรับการรักษา รวมถึงมีความร่วมมือจากประชาชน

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ระบุว่า สบส.ได้เตรียมพร้อม 1.สถานกักกันโรคทางเลือกที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine : ASQ) ที่ต้องผ่านมาตรฐาน 6 ด้าน ปัจจุบันมี 107 แห่ง มีผู้กักตัวสะสม 35,362 ราย อยู่ระหว่างการกักตัว 6,201 ราย กลับบ้านแล้ว 29,161 ราย สร้างรายได้ให้ประเทศประมาณ 1,200 ล้านบาท
2.สถานกักกันใน รพ.ทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine : AHQ) รองรับผู้ป่วยโรคอื่นที่เดินทางเข้ามารับการรักษา ปัจจุบันมี 173 แห่ง มีผู้ป่วยและผู้ติดตามเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลแล้ว 2,367 ราย รักษาเสร็จสิ้นแล้ว 1,072 ราย กำลังรักษาอยู่ 1,295 ราย สร้างรายได้เข้าประเทศแล้ว 1,272,827,982 บาท
3.อสม.ในการดำเนินการตำบลวิถีใหม่ โดยสำรวจสุขภาพใจ และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวแก่ประชาชน ให้มีสุขอนามัย มีวินัยและความร่วมมือในการใส่หน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างในชุมชน

ทั้งนี้ภายหลังจากการเปิดงาน นายอนุทินได้ลงนามรับรอง “นโยบายการกักกันโรคระดับชาติ” ออกโดยคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพื่อเป็นมาตรการควบคุมการกักกันโรคในกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศไทย และการวางแผนเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดอื่น ๆ ในอนาคต