ศาลอ่านคำพิพากษายกฟ้อง สุเทพ เทือกสุบรรณ คดีฮั้วประมูลสถานีตำรวจโรงพักทดแทน จำนวน 396 และอาคารที่พักแฟลตตำรวจ
ภายหลังจาก ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ คดีฮั้วประมูลโรงพักทดแทน กรณีตกเป็นจำเลยฮั้วประมูลก่อสร้างอาคารสถานีตำรวจ 396 และโครงการก่อสร้างอาคารที่พักแฟลตตำรวจกว่า 5.8 พันล้านบาท โดยคดีดังกล่าวเกิดขึ้นในยุครัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

โดยคดีดังกล่าวมี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมจำเลยอีก 6 คน ประกอบด้วย พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1-6
ทั้งนี้เฟซบุ๊กสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว รายงานว่า ป.ป.ช. ยื่นฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2552 – 18 เมษายน 2556
- จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เปลี่ยนแปลงแนวทางจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง จากราคาภาคแยกสัญญา มาเป็นการรวมจัดจ้างก่อสร้างไว้ที่ส่วนกลางสัญญาเดียว
- จำเลยที่ 5 เป็นผู้ชนะการประกวดราคา
- จำเลยที่ 6 ยื่นเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา ได้เสนอราคาต่ำอย่างผิดปกติ
- จำเลยที่ 3-4 คณะกรรมการประกวดราคา ไม่ตรวจสอบราคาที่ผิดปกติดังกล่าว และได้นำเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคานั้นไปใช้ในการขออนุมัติจ้างและใช้ประกอบ เป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา
- จำเลยที่ 5 ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1, 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำเลยที่ 3, 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา ต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10, 12 กับลงโทษจำเลยที่ 5, 6 ในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำผิด

โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 นายสุเทพ ไม่มีความผิดตามฟ้อง เนื่องจากพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4 อนุมาตรา 1 ประกอบ ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 กำหนดว่า คณะรัฐมนตรีต้องให้ความเห็นชอบตามหลักการที่หน่วยงานราชการเสนอเท่านั้น เว้นแต่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง โดยไม่ได้อนุมัติแนวทาง รูปแบบ หรือวิธีการจัดจ้าง พร้อมทั้งให้ความเห็นชอบเปลี่ยนแปลงแหล่งรายได้จากหลักทรัพย์เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ซึ่งจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยไม่ได้เสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ ถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการจัดจ้างโครงการดังกล่าว จึงไม่ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฎิบัติหน้าที่ให้เสียหายต่อทางราชการตำรวจและการจัดซื้อจัดจ้าง จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

สำหรับคดีฮั้วประมูลโรงพักทดแทน กรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้น ย้อนไปเมื่อปี 2555 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ช่วยสมัยที่เป็นนักการเมืองและสมาชิกพรรค ส.ส. พรรครักประเทศไทย ได้มีการอภิปรายถึงประเด็นการก่อสร้างโรงพักทดแทนดังกล่าว ก่อนที่เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 ทาง DSI โดยมีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดีดีเอสไอ ขณะนั้นได้มีการรับคำร้องก่อนจะมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จากนั้นวันที่ 12 เมษายน 2560 เปลี่ยนรูปแบบการไต่สวนจากอนุกรรมการไต่สวน เปลี่ยนให้เป็นกรรมการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้ง 9 คน เป็นองค์คณะไต่สวน แทนหลังจากมีการรูปแบบการไต่สวนจากอนุกรรมการไต่สวน
22 กรกฏาคม 2562 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการชี้มูลความผิดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และพวก โดยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งฟ้องคดีต่อศาลหลังจากอัยการไม่สั่งฟ้อง จากนั้นวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลได้เริ่มการไต่สวนคดีดังกล่าว ก่อนที่ในวันนี้ 20 กันยายน 2565 ศาลฎีกานัดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และพวกอีก 6 คน อ่านคำพิพากษาก่อนที่ศาลจะมีการยกฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และพวกอีก 6 คน





ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY