วัคซีนโควิด จากกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชะลอการฉีด วัคซีนโควิด19 ของแอสตราเซเนกา ภายหลัง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกรงว่าอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เป็นอาการที่พบในคนแอฟริกาและคนยุโรป มากกว่าคนเอเชีย อัตราถึง 3 เท่า ซึ่งสาเหตุอาจเป็นเพราะพันธุ์กรรม ที่ไม่เหมือนกัน นั้น
สธ.เผยเหตุผลนายกฯ และคณะครม. เลื่อนฉีด วัคซีนโควิด19 ของแอสตราเซเนกา
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ถึงวันนี้นายกฯยังไม่ฉีด แล้วเมื่อไหร่คนไทยจะได้ฉีด “ผูกขาดวัคซีน” ความผิดพลาดร้ายแรงที่ต้องรีบทบทวน การที่ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีอีกหลายคน ยกเลิกการฉีดวัคซีนในวันนี้แสดงให้เห็นปัญหาความผิดของนโยบายและแผนของรัฐบาลในการฉีดวัคซีนอย่างไม่อาจปฏิเสธแก้ตัวได้อีกต่อไป รัฐบาลต้องทบทวนนโยบายที่ผิดพลาดนี้โดยด่วนที่สุด
ตอนที่มีการฉีดวัคซีนโชว์เป็นเข็มแรก นายกฯ ไม่ได้ฉีดเพราะ Sinovac ไม่ใช้สำหรับผู้ที่อายุเกิน 60 ขณะนั้น วัคซีน AstraZeneca เพิ่งมาถึงไทย แต่ยังใช้ไม่ได้ ในขณะนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันในหลายประเทศในยุโรปว่าวัคซีนของบริษัทนี้ควรใช้กับผู้ที่อายุเกิน 65 ปีหรือไม่ ต่อมาบางประเทศก็เปลี่ยนท่าทีเป็นยอมรับการใช้วัคซีน AstraZeneca กับผู้ที่อายุมากได้
แต่ล่าสุดบางประเทศในยุโรปชะลอการใช้วัคซีน AstraZeneca เนื่องจากสงสัยว่าใช้แล้วอาจมีผลต่อการเกิดลิ่มเลือด บางประเทศก็ไม่เห็นด้วย และผู้เชี่ยวชาญของบริษัทก็อธิบายถึงการค้นคว้าวิจัยยืนยันว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการใช้วัคซีนกับการเกิดลิ่มเลือด แต่บางประเทศก็ยังสงสัยและต้องการดูเรื่องอย่างระมัดระวัง นี่คงเป็นสาเหตุที่นายกฯและรัฐมนตรีหลายๆ คนยกเลิกการฉีดวัคซีนในวันนี้
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ามีความไม่แน่นอนในการใช้วัคซีนจากบริษัทต่างๆ ได้ในลักษณะต่างๆ กัน ปัญหาของประเทศไทยจึงอยู่ที่การไปผูกขาดการใช้วัคซีนไว้กับบริษัทเดียว (จะใช้ของ Sinovac บ้างเล็กน้อยก็เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า) ความเสี่ยงจึงสูงมาก นโยบายใช้วัคซีนแบบผูกขาดรายเดียวแบบนี้จึงเป็นนโยบายที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ที่ผิดพลาดไม่น้อยกว่ากันก็คือการฉีดวัคซีนช้าและไม่ครอบคลุมประชากรให้มากพอ
โดยหากไม่ทบทวนเปลี่ยนนโยบายและแผนเสียใหม่ จะเป็นความเดือดร้อนเสียหายมหาศาลสำหรับประชาชนทั้งประเทศ ความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดรอบที่สามจะยังมีอยู่และการฟื้นเศรษฐกิจจะล่าช้าไปอีกเป็นปีๆ
