จับตาให้ดี! วาระแห่งชาติส่งเสริมการมีบุตร แก้ปัญหาเรื่องการมีลูกน้อย แล้วแบบนี้ “รัฐบาล” จะพร้อมสนับสนุนเพียงพอต่อความเป็นจริงหรือไม่?
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 มีรายงานว่า รัฐบาล จ่อประกาศ วาระแห่งชาติส่งเสริมการมีบุตร โดย นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล และ กระทรวงสาธารณสุข นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ “กรมอนามัย” เป็นผู้ขับเคลื่อน “นโยบายส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ” ภายใต้แนวคิด “Give Birth Great World การเกิดคือการให้ที่ยิ่งใหญ่” โดย สนับสนุนให้โรงพยาบาล ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง จัดตั้งคลินิกส่งเสริมการมีบุตร บริการให้คำปรึกษา วางแผนการตั้งครรภ์ วินิจฉัยและรักษาภาวะมีบุตรยาก รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI) และพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลให้สามารถให้บริการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ได้มากขึ้น
รัฐบาลมีนโยบายผลักดัน และส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ ในการพัฒนาประชากรและทุนมนุษย์ ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการบูรณาการทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศได้ในเดือน (มี.ค. 2567) นี้” โดยมีสาระสำคัญที่พิจารณาคือ มาตรการส่งเสริมการมีบุตร ทั้งเรื่องความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตร การช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มหนุ่มโสด สาวโสดที่อยากมีบุตรแต่ไม่อยากมีคู่ ให้มีโอกาสที่จะมีบุตรได้
- ตะวัน ทะลุวัง วอน! สังคมอย่าปล่อยให้ io ปั่นหัว ลั่น จะจับกี่โมงรออยู่ไม่หนี
- อาการบุ้ง-ทะลุวัง หลังอดข้าวประท้วง นาน 17 วัน ล่าสุด ปัสสาวะไม่ออก
- ตั๋วเครื่องบินวันวาเลนไทน์ กรุงเทพ-ภูเก็ต ราคาพุ่งเหมือนไปต่างประเทศ
ทั้งนี้ “ประเทศไทยประสบปัญหาเด็กเกิดน้อยมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียง 485,085 ราย น้อยที่สุดในรอบกว่า 70 ปี และจำนวนการเกิดยังน้อยกว่าการตาย ทำให้จำนวนประชากรลดลงตั้งแต่ปี 2564 หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป คาดการณ์ว่า ในอีก 60 ปี ข้างหน้า จำนวนประชากรไทยจะลดลงถึงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 33 ล้านคน เท่านั้น ซึ่งจะเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศในอนาคต” รองโฆษกรัฐบาล กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอัตราการเกิดบุตร หรือ คนรุ่นใหม่นั้น ส่วนใหญ่สืบเนื่องปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ ทั้งในเรื่องของ ค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆที่ไม่สอดคล้องกัน รวมไปถึงปัญหาเรื่องการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพเพียงพอต่อความต้องการของผู้ปกครอง และเรื่องของการดูแลทางการแพทย์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้คนรุ่นใหม่มองว่ายังไม่เหมาะหากมีบุตรในตอนนี้ ทั้งนี้ก็ต้องจับตาดูว่า เมื่อประกาศเป็นวาระแห่งชาติแล้ว ทางรัฐบาลจะสนับสนุนเพียงพอต่อความพึงพอใจของประชาชนหรือไม่