เดอะ วัน ประกันภัย — เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2565 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ คำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ ๒๔๒๓/๒๕๖๔ เรื่อง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จํากัด (มหาชน) ตามมาตรา ๕๙ แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕
ตามที่ บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จํากัด (มหาชน) ได้ยื่นคําขอผ่อนผันต่อนายทะเบียน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง มาตรการสำหรับ บริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทน COVID – 19 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ในระหว่างที่บริษัทได้รับการผ่อนผันตามประกาศดังกล่าวนั้น ได้ปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จํากัด (มหาชน)
(๑) มีฐานะการเงินไม่มั่นคง โดยมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน จัดสรรเงินสํารองตามมาตรา ๒๓ และจัดสรรสินทรัพย์หนุนหลังตามมาตรา ๒๗/๔ ไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด มีสินทรัพย์ สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และปรากฏว่าอัตราส่วนความเพียงพอ ของเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ทำให้ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าบริษัทมีความสามารถ ในการชําระหนี้ตามภาระผูกพันที่มีต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนได้
นอกจากนี้ สำนักงาน คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยได้รับแจ้งจากกรรมการผู้จัดการของบริษัท ว่าที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ มีมติเอกฉันท์ไม่เพิ่มทุน แสดงให้เห็นชัดเจนว่า บริษัทไม่มีเจตนาที่จะแก้ไขฐานะการเงินของบริษัท
(๒) จ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า อันเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ (๑๑) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบกับประกาศ กระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิ่งการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย และประกาศคณะกรรมการกำกับและ ส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชดใช้เงิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๕๙ รวมทั้งยังคง มีจำนวนค่าสินไหมทดแทนคงค้างจำนวนมากจนส่งผลกระทบต่อฐานะและการดำเนินการของบริษัท
(๓) ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ บริษัทได้ปิดประกาศ หน้าบริษัทว่า “บริษัทอยู่ระหว่างปิดปรับปรุงชั่วคราวเพื่อดำเนินการเสริมสภาพคล่อง ลูกค้าสามารถ ติดตามข่าวสารได้ทาง Website บริษัท (ใช้เวลาประมาณ ๒ สัปดาห์)” โดยไม่ได้แจ้งเหตุผล ส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชนจำนวนมาก เนื่องจากเข้าไปติดต่อ ณ ที่ทำการบริษัท แต่ไม่ได้รับการบริการใด ๆ จากบริษัท การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืน
หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ และประกาศ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง กําหนดให้บริษัทประกันวินาศภัย เปิดทำการติดต่อกับประชาชน ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏหลักฐานดังกล่าว นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ กำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ตามมติที่ประชุมครั้งที่ ๑๔/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ ๖๑/๒๕๖๔ เรื่อง ให้บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จํากัด (มหาชน) แก้ไขฐานะและการดำเนินการตามที่นายทะเบียนกำหนดและหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตามมาตรา ๕๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑
ภายหลังจากที่นายทะเบียนได้ออกคำสั่งข้างต้น ได้ปรากฏข้อเท็จจริง ดังนี้
(๑) ฐานะการเงินและการดําเนินงาน ณ วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ บริษัทมีหนี้สิน เกินกว่าทรัพย์สิน ๒,๙๙๖.๔๗ ล้านบาท จัดสรรเงินสํารองตามมาตรา ๒๓ ไม่เพียงพอ จำนวน ๒,๔๙๓.๖๙ ล้านบาท จัดสรรสินทรัพย์หนุนหลังตามมาตรา ๒๗/๔ ไม่เพียงพอ จำนวน ๒,๔๘๐.๕๕๙ ล้านบาท ประกอบกับ ณ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ บริษัทมีสินทรัพย์สภาพคล่อง จำนวน ๒๖๖.๐๖ ล้านบาท และมีค่าสินไหมทดแทนค้างจ่าย จำนวน ๒,๑๘๖.๗๙ ล้านบาท
เมื่อพิจารณาจากฐานะการเงินของบริษัท แสดงให้เห็นว่า บริษัทไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะสามารถ จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยให้ครบถ้วนภายในเวลาที่กรมธรรม์ ประกันภัยและกฎหมายกำหนด และไม่มีความสามารถในการชําระหนี้ตามสัญญาประกันภัย ที่บริษัท มีภาระผูกพันที่มีอยู่กับผู้เอาประกันภัยได้
และจากการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัยได้สอบถามและติดตามความคืบหน้าจากบริษัทเกี่ยวกับการแก้ไขฐานะ การเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพัน และให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเพียงพอ จนถึงเมื่อ วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๔ พบว่า ในรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ครั้งที่ ๓/๒๕๖๔ เมื่อวันอังคารที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ที่บริษัทได้นําส่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและ ส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่อนุมัติให้ เพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัท และจากการที่ประชุมร่วมกับผู้บริหารของบริษัท ตามบันทึกถ้อยคํา ลงวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๔ ได้รับการยืนยันว่าบริษัทไม่มีแหล่งเงินทุนอื่นมาเสริมสภาพคล่องอีกต่อไป ทั้งในส่วนของการกู้เงินและการเพิ่มทุน และแจ้งว่า บริษัทไม่สามารถแก้ไขปัญหาฐานะการเงินและ การดำเนินการได้ อีกทั้ง ณ วันที่ 5 ธันวาคม ๒๕๖๔ บริษัทมีสินทรัพย์สภาพคล่องที่สามารถ
นำมาใช้ได้ จำนวน ๑๖๒.๔๐ ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ค้างจ่ายอยู่ จำนวน ๒,๔๐๑.๐๘ ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า บริษัทไม่สามารถแก้ไขฐานะการเงินและสภาพคล่องได้ ตามคำสั่งของนายทะเบียน ที่ ๖๑/๒๕๖๔ เรื่อง ให้บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จํากัด (มหาชน) แก้ไขฐานะและการดำเนินการตามที่นายทะเบียนกำหนดและหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตามมาตรา ๕๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑
จึงแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า บริษัทมีฐานะ การเงินไม่มั่นคง ซึ่งหากประกอบธุรกิจต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ตามมาตรา ๕๙ (๑) และ (๕) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕
(๒) บริษัทไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยให้ครบถ้วน ภายในระยะเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยและกฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ (๑๑) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบกับ ข้อ ๓ (๕) แห่งประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิง การจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย
ประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการชดใช้เงิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๕๕๙ และประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งทำให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน และหากให้บริษัทประกอบธุรกิจต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนในวงกว้างมากขึ้น ตามมาตรา ๕๙ (๒) (๔) และ (๕) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏหลักฐานดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จํากัด (มหาชน) มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน จัดสรรเงินสํารองตามมาตรา ๒๓ และจัดสรรสินทรัพย์หนุนหลังตามมาตรา ๒๗/๔ ไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด มีสินทรัพย์สภาพคล่อง ไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนไม่เพียงพอ ตามที่กฎหมายกำหนด แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีฐานะการเงินไม่มั่นคงและไม่เพียงพอต่อภาระผูกพัน ประวิ่งการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติ แห่งกฎหมายหลายประการ
กรณีจึงเห็นได้ว่าบริษัทไม่มีความสามารถและความพร้อมที่จะรับประกันภัย และประกอบธุรกิจประกันภัยได้ต่อไป ถ้าให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป จะทำให้เกิด ความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัย ตลอดจนความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย
ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕๔ (๑) (๒) (๔) และ (๕) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกัน วินาศภัยของบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จํากัด (มหาชน) และหากบริษัทไม่เห็นด้วยกับคําสั่งนี้ มีสิทธิเสนอคําฟ้องยื่นต่อศาลปกครองกลางภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง




อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ ให้ทำคำเตือนที่ฉลากของ ผ้าอนามัยชนิดสอด ไม่ควรใส่นานเกิน 8 ชั่วโมง
ราชกิจจานุเบกษา ประกาศทะเบียนราษฎร 77 จังหวัด 66.1 ล้านคน กทม.ประชากรมากสุด 5.5 ล้านคน