ช่อ พรรณิการ์ —นายสามารถ เจนชัยจิตวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีที่น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้าระบุว่าสนามหลวงเป็นพื้นที่สาธารณะ ถ้าไม่มีผู้คนอยู่ในนั้น ประเทศจะน่าภูมิใจได้อย่างไร
ช่อ พรรณิการ์ ลั่น สนามหลวง เป็นพื้นที่สาธารณะ ถ้าไม่มีผู้คนในนั้น ประเทศจะน่าภูมิใจได้อย่างไร
โดยนายสามารถได้โพสต์สวนกลับ น.ส.พรรณิการ์ไปว่า “พ่อแม่พี่น้องประชาชนเป็นห่วงการกระทำของ น.ส.พรรณิการ์ วานิช หรือ “ช่อ” แกนนำคณะก้าวหน้า ที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องท้องสนามหลวงนั้นเพราะได้ใช้จิตวิทยาการเมืองปลุกระดมมวลชนให้ข้อมูลเท็จแก่ประชาชน ตนไม่เข้าใจว่า น.ส.พรรณิการ์ เคยศึกษาประวัติศาสตร์ท้องสนามหลวงหรือไม่ เคยยืนตรงเคารพเพลงชาติไทยหรือไม่ เพราะรู้สึกว่าเป็นคนนิยมแก่ตัวเอง หรือเรียกว่า “คนเห็นแก่ตัว”
การที่คนเราไม่รู้จักรากเหง้าประวัติศาสตร์แล้วมาปลุกระดมมวลชน รวมทั้ง ยังไม่เคารพคำพิพากษาของศาลนั้นเป็นคนไม่น่าเอาแบบอย่างหรือเป็นผู้นำได้ แล้วยิ่งพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงให้กับประชาชนสับสน เพื่อมุ่งหวังจิตวิทยาการเมือง ตนจึงต้องขอหยิบยกประวัติศาสตร์มาเตือนสติ น.ส.พรรณิการ์ อีกครั้ง โดยสนามหลวง นั้นแต่เดิมเรียกว่า “ทุ่งพระเมรุ” เนื่องจากใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2398 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเรียกจาก “ทุ่งพระเมรุ” เป็น “ท้องสนามหลวง” ดังปรากฏในประกาศว่า “ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนาน ๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ‘ทุ่งพระเมรุ’ นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไปที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น ให้เรียกว่า ‘ท้องสนามหลวง’
นายสามารถ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ร.1 เป็นต้นมา ได้ใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ เช่น เป็นที่ตั้งพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.3 โปรดเกล้าฯ ให้ทำนาที่สนามหลวง เพื่อแสดงให้ปรากฏแก่นานาประเทศว่า เมืองไทยบริบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร มีไร่นาไปจนใกล้ๆ พระบรมมหาราชวัง และคนไทยเอาใจใส่ในการสะสมเสบียงอาหารไว้เป็นกำลังของบ้านเมืองด้วย
“ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.4 โปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีพืชมงคล พิธีพิรุณศาสตร์มีกำแพงแล้วล้อมรอบบริเวณ โดยข้างในได้สร้างหอพระพุทธรูปสำคัญเป็นที่ประดิษฐานพระสำหรับพิธีและอื่นเพื่อไว้ใช้สำหรับการพิธีสำหรับประทับทอดพระเนตรการทำนาในท้องทุ่ง นอกกำแพงแก้วนอกจากนั้นยังมีฉางสำหรับใส่ข้าวที่ได้จากการปลูกข้าว”
นายสามารถ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5 โปรดเกล้าฯ ให้ขยายสนามหลวงจากเดิม และรื้อพลับพลาต่างๆ ที่สร้างในรัชกาลก่อนๆ เพราะหมดความจำเป็นที่จะต้องทำนา และได้ใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพิธีต่างๆ เช่น การฉลองพระนครครบ 100 ปี งานฉลองเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปใน พ.ศ. 2440 โดยปัจจุบันได้ใช้ท้องสนามหลวงเป็นพื้นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ในประเทศ เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ , สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี , พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธ.ค.2530 , พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ.2539
ทั้งยังได้ใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงก่อสร้าง งานพระเมรุมาศกลางเมืองมาแล้ว 6 ครั้ง ดังนี้ พ.ศ.2493 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ร.8 , พ.ศ.2499 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า , พ.ศ.2528 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 , พ.ศ.2539 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี , พ.ศ.2551 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ , พ.ศ.2555 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และ พ.ศ.2560 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”
นายสามารถ กล่าวอีกว่า น.ส.พรรณิการ์ ต้องการที่จะพยายามทำลายระบบสถาบัน ทำลายความเป็นโบราณสถาน ทำลายจิตวิญญาณของคนที่รักสถาบันใช่หรือไม่ พยายามที่จะเชื่อมโยงไปยังการเมืองใน ยุค 14 ต.ค.2516 หรือ 6 ต.ค.2519 เพื่อให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่ ดังนั้น น.ส.พรรณิการ์ ต้องให้ข้อมูลที่แท้จริงกับประชาชน อย่าหลอกชาวบ้าน อย่าใช้จิตวิทยาการเมืองทั้งนี้ ขอเตือนสติ น.ส.พรรณิการ์ ว่าประวัติศาสตร์สนามหลวงมีความเป็นมาควบคู่กับกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นสมบัติของชาติและประชาชนทั่วประเทศ ขอให้สำนึกคุณงามความดีของบูรพกษัตริย์ในอดีตและสำนึกบุญคุณชาติบ้านเมืองมากกว่าประโยชน์ส่วนตัวด้วย”