ฟุตบอลประเพณี — จากกรณีที่ เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2564 สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ได้ออกแถลงการณ์มีมติให้ยกเลิกกิจกรรม “ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานประเพณีฟุตบอลจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีมติให้ยกเลิก 29:0 เสียง
ด้านสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระบุว่า กิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนและสะท้อนระบอบอำนาจนิยม เป็นการสนับสนุนความเป็นอภิสิทธิ์ อีกทั้งเป็นการใช้อำนาจบังคับให้คนมาแบกเสลี่ยง โดยการไปหานิสิตหอในมาแบกเสลี่ยงเข้าสนาม อ้างว่าจะมีผลต่อคะแนนการคัดเลือกให้มีสิทธิ์อยู่ในหอพัก นอกจากนี้ ยังเป็นกิจกรรมที่ล้าหลัง ขัดต่อคุณค่าสากลตามหลักประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และสิทธิมนุษยชน
ทั้งนี้ ประเด็นยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างมากในสังคม ซึ่งมีทั้งกลุ่มผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2564 รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว ผ่านทางเฟซบุก ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง ในหัวข้อ “ที่ควรยกเลิกคือ ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์” โดยระบุว่า
ผมไม่แน่ใจว่ามาถึงปัจจุบันแล้วฟุตบอลประเพณีระหว่างสองมหาวิทยาลัยนี้มีความหมายอะไรแก่สังคมไทยบ้าง นอกจากการอวดอ้างถึงความยิ่งใหญ่ของสถาบันการศึกษาที่ตนสังกัดแก่สังคม
งานดังกล่าวต้องใช้งบประมาณจำนวนไม่น้อย โดยผลพลอยได้ซึ่งเป็นที่รับรู้กันบ้างก็คือ การแสดงความเห็นทางการเมืองผ่านขบวนล้อการเมืองหรือการแปรอักษร พอให้เป็นข่าวผ่านทางสื่อมวลชนเป็นกระแสในระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมาอาจเป็นข่าวมากหน่อยเนื่องจากมีความพยายามปิดกั้นจากอำนาจรัฐ เลยสามารถดึงดูดความสนใจจากสาธารณชน
แม้จะพอนำเสนอความเห็นต่อสาธารณะได้บ้าง แต่เอาเข้าจริงการปิดกั้นความเห็นกลับแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เฉพาะสองสถาบันนี้เท่านั้นแต่มันปกคลุมไปทั่ว การพยายามผลักดันให้การแสดงความเห็นอย่างเสรีควรเกิดขึ้นกับภาวะปกติและในพื้นที่ทุกแห่งน่าจะเป็นสิ่งที่มีความหมายมากกว่าหรือไม่
ไม่ต้องพูดถึงการแข่งขันฟุตบอล เห็นรายชื่อก็รู้ว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ล้วนมาจากนักฟุตบอลอาชีพที่มีสถานะเป็นนักศึกษา “ภาคบัณฑิต” ไม่ก็ “ภาคพิเศษ” ฟุตบอลประเพณีระหว่างสองสถาบันจึงไม่ใช่เรื่องของสองสถาบันจริงๆ แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะสามารถไปดึงตัวเอาตัวเก่ง ๆ มาลงได้มากกว่ากัน ผมจึงไม่เข้าใจว่ามันจะมีความสนุกหรือความหมายได้อย่างไร
ปัญญาชนอาวุโสเคยตั้งคำถามว่านอกจากฟุตบอลประเพณีแล้ว สถาบันการศึกษาในสังคมไทยเคยผลิตความรู้อะไรที่เป็นการต่อสู้หรือหักล้างความรู้ระหว่างกันอย่างจริงจัง กระทั่งกลายเป็น “School” ดังที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศหรือไม่ คำตอบที่คิดแบบเร็ว ๆ ก็คือ “นึกไม่ออก”
ในท่ามกลางการถกเถียงเรื่องควรยกเลิกการอัญเชิญพระเกี้ยวหรือไม่ ผมเสนอว่าที่ควรยกเลิกไปเลยก็คือ ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์
25 ตุลาคม 2564
