ส.ส.ร. นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี เดินทางมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีล้มล้างการปกครองด้วยการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อร่างการรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยเป็นการใช้สิทธิ์ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ
นพ.วรงค์ เปิดเผยว่า พวกเรากลุ่มไทยภักดีในฐานะผู้ทราบเหตุการณ์ได้ยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 เมื่อเรายื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดแล้ว 15 วัน อัยการสูงสุดไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ต่อ เราจึงใช้สิทธินี้ยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ
โดยมีเหตุผล 4 ข้อ คือ 1.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่กำหนดในมาตรา 256 และมีการกำหนดให้การแก้รัฐธรรมนูญง่ายขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดสัดส่วนให้ ส.ว. และ ส.ส. แต่การแก้ไขครั้งนี้ได้ตัดสิทธิ ส.ว. และ ส.ส. ตามสัดส่วนออก จึงทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของสมาชิกรัฐสภา รวมทั้งมีการยกเลิกการทำประชามติในมาตราสำคัญ ๆ จึงทำให้ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย ซึ่งตนถือว่ากระบวนการตัดสิทธิเหล่านี้เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

2.การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 10 ฉบับต้องถูกยกเลิก ทำให้ ส.ส.และ ส.ว.ต้องถูกยกเลิก ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต้องถูกยกเลิก จึงทำให้โครงสร้างทางการเมืองและการปกครองเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับ พ.ร.ป.ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ และคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องถูกยกเลิกด้วย จึงทำให้คดีต่าง ๆ ทั้งที่ถูกตัดสินไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ ทุกคดีจะหลุดพ้นไปเพราะกฎหมายที่ใช้บังคับถูกยกเลิก
3.บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการแก้ไขรายมาตรา ไม่ได้กำหนดว่าให้มีการแก้ไขโดยการร่างใหม่ทั้งฉบับ จึงถือว่าผู้กระทำการนั้นมีเจตนาที่จะกระทำขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย
และ 4. เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านการทำประชามติ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า การจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรให้ประชาชนได้ลงประชามติก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
โดยทั้ง 4 เหตุผลเป็นเหตุผลที่เราคิดว่าเพียงพอ ที่บ่งบอกว่าขณะนี้มีการกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำวินิจฉัยและสั่งการ 3 ข้อ 1.สั่งการให้ประธานรัฐสภาในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งระงับการบรรจุระเบียบวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2 และวาระ 3 ข้อ 2.ขอให้ผู้ถูกร้อง คือ ส.ส.ที่ลงชื่อร่างฝ่ายค้านและร่างฝ่ายรัฐบาล ถอนระเบียบวาระออกจากที่ประชุมรัฐสภา และ 3.ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติในชั้นรับหลักการทั้ง 2 ฉบับ ที่ลงมติเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา