นายกสมาคมทนายฯ ชี้ปม “ช่อ พรรณิการ์ วานิช” ถูกตัด สิทธิทางการเมือง ตลอดชีวิต สะท้อน รัฐธรรมนูญ ที่บิดเบือน อำนาจประชาชน ยิ่งใช้ยิ่งเกิดความขัดแย้ง
เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 ทาง สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย โดยนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้มีการออกแถลงการณ์ เกี่ยวกับประเด็นที่ “พรรณิการ์ วานิช” หรือ “ช่อ” ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯ โพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันฯ ดังนั้น ศาลมีคำพิพากษาว่า น.ส.พรรณิการ์ ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงตามกฎหมาย “ให้ถอนสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งตลอดไป ไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ส่วนคำขออื่นให้ยก
คำแถลง จากสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย
รัฐธรรมนูญมาตรา 219 บัญญัติให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อควบคุมการปฏิบัติตนของผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญซึ่งรวมถึง ส.ส. และ คณะรัฐมนตรี เพื่อให้การดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวมีความสง่างามอันจะทำให้ได้รับความน่าเชื่อถือ เคารพยกย่อง เสมือนพระสงฆ์ที่ถือศีลและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ย่อมจะได้รับการเคารพกราบไหว้จากสาธุชนอย่างเต็มใจ
มาตรฐานทางจริยธรรมจึงมีขึ้นเพื่อควบคุมการปฏิบัติตนหรือการครองตนในขณะดำรงตำแหน่ง เพราะหากมีการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมเกิดขึ้นก่อนหรือภายหลังการดำรงตำแหน่ง ก็ไม่ทำให้เกิดความเสียหายหรือกระทบต่อการดำรงตำแหน่ง จึงไม่มีเหตุที่จะไปถอดถอนผู้นั้นอีก เช่น กรณีของพระองคุลีมารที่แม้จะเคยฆ่าคนมามากมายอันถือเป็นอาบัติขั้นปาราชิก แต่เกิดขึ้นก่อนการบวชจึงไม่ทำให้ท่านขาดจากความเป็นสงฆ์ ผู้ใดจะเอาการกระทำนั้นมากล่าวหาเพื่อให้ท่านขาดจากความเป็นสงฆ์ในภายหลังไม่ได้

ในทางสากล หากบุคคลใน องค์กรใดมีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎกติกาก็จะให้องค์กรนั้นเป็นผู้ดำเนินการ หากเป็นนักการเมืองที่มาจากประชาชน ก็จะให้องค์กรที่มาจากประชาชนขับหรือถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่ง เช่น กรณีวุฒิสมาชิกของสหรัฐลงมติให้ถอดถอนประธานาธิบดี อดีตประธานาธิบดี หรือกรณีของสงฆ์ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพระธรรมวินัยก็จะให้คณะสงฆ์เป็นผู้พิจารณา หรือแม้แต่ผู้พิพากษาที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยก็ให้คณะกรรมการตุลาการเป็นผู้พิจารณา เป็นต้น ยกเว้นการกระทำนั้นเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาด้วย จึงจะส่งเฉพาะเรื่องนั้นให้ศาลพิจารณาลงโทษทางอาญา
ดังนั้น การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ประชาชนและศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงผิดพลาดและบิดเบือนอำนาจของประชาชน ผลของการตัดสินได้สร้างความขัดแย้งทางการเมืองอีกครั้ง จึงเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เหมาะสมกับสังคมประชาธิปไตย การปล่อยให้รัฐธรรมมนูญมีผลบังคับใช้ต่อไปจะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น รัฐบาลจึงควรเร่งกระบวนการเพื่อให้ประชาชนได้มีรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นเองบังคับใช้ รวมทั้งควรล้างบาปนิรโทษกรรมคืนสิทธิทางการเมืองให้กับบุคคลที่ถูกตัดสิทธิด้วย

ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY