ปตท. จัดทำโครงการจิตอาสา “Innovative Starting Camp”
มุ่งเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีให้กับนักเรียน
เพื่อต่อยอดการศึกษาในอนาคต
ปี 2567 นี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรมเชิญชวนพนักงานกลุ่ม ปตท. ร่วมส่งไอเดียประกวดใน “โครงการจิตอาสา DIY” เพื่อออกแบบกิจกรรมจิตอาสาในแบบที่พนักงานชื่นชอบและเกิดประโยชน์ต่อสังคมได้จริง เป็นการพัฒนาเพื่อส่วนรวมและสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ซึ่งมีโครงการที่ได้รับการคัดเลือกให้ชนะการประกวดทั้งสิ้น 3 โครงการ


โครงการ “Innovative Starting Camp” เป็นหนึ่งในกิจกรรมจิตอาสา DIY ครั้งนี้ เกิดจากการที่ ปตท. ได้ทำการสำรวจและลงพื้นที่ในงานด้านกิจการเพื่อสังคม (CSR) อย่างต่อเนื่อง เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่าง ปตท. กับกลุ่มบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมถึงชุมชนและโรงเรียนที่อยู่รอบแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ด้วยเหตุนี้ ศูนย์ปฏิบัติการระบบท่อเขต 10 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงริเริ่ม โครงการ “Innovative Starting Camp” ที่ มุ่งเน้นในการให้ความรู้ที่เป็น “ทักษะแห่งอนาคต” ให้แก่นักเรียนของโรงเรียนในพื้นที่ เช่น ความรู้ด้านนวัตกรรม การเขียนโปรแกรม การออกแบบกราฟิก และการเขียนโปรแกรมด้านหุ่นยนต์
นายสุวีเรศ เลาหวนิช ผู้จัดการส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต 10 กล่าวว่า โครงการนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้นักเรียนสามารถต่อยอด และนำไปใช้กับการศึกษาในอนาคต รวมไปถึงมุ่งหวังให้นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปช่วยผู้ปกครองในด้านต่างๆ ซึ่งผลตอบรับจากการดำเนินโครงการกับโรงเรียนเห็นได้ว่านักเรียนมีความสนใจในการเรียนคอมพิวเตอร์มากยิ่งขึ้น ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนผ่านวิทยากรจิตอาสาจาก ปตท. ที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้เด็ก ๆ มีเป้าหมายในอนาคต เพราะเราเชื่อว่า “การศึกษาสามารถเปลี่ยนชีวิตของคนได้”


โดยโครงการในครั้งนี้จัดขึ้นที่โรงเรียนวัดลำมหาชัย(รัฐอนุสรณ์) อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในคาบเรียนวิชาแนะแนว โดยแบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 2 ทักษะด้วยกันคือ ทักษะด้านการออกแบบ และ Graphic ด้วยโปรแกรม Canva และทักษะการ Coding และสร้างเกมส์ ด้วยโปรแกรม Scratch โดยมีเป้าหมายที่ต้องการให้นักเรียนที่เรียนสามารถออกแบบ Graphic ในการทำ Portfolio และออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ รวมไปถึงสามารถเขียนโปรแกรมสร้างเกมอย่างง่ายได้

นายวัชระ ละครวงษ์ วิศวกรอาวุโส หน่วยปฏิบัติการและบํารุงรักษา อุปกรณ์เครื่องมือวัดและสถานีเพิ่มความดันก๊าซ และจิตอาสาผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่าหลังจากที่ได้มาสอนนักเรียนจะเห็นว่า เด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมมีความชื่นชอบและเฝ้ารอที่จะได้เรียนรู้ และสามารถทำชิ้นงานออกมาได้อย่างสวยงามจากโปรแกรมที่ทางจิตอาสาได้เข้ามาสอน และในอนาคตเด็ก ๆ สามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดสำหรับการศึกษา หรือการใช้ชีวิตในอนาคตต่อไปได้
