อุทยานฯเขาใหญ่ ชี้แจงดราม่า “พลายสุ” ลาออกเอง มีผล 1 พฤศจิกายน 2567 ชี้! ปรับเปลี่ยนวิธีการเฝ้าระวังผลักดันช้างป่า
วันที่ 28 ต.ค. 67 กรณีดราม่า พลายสุ หรือ สุทธิพร สินค้า ตำแหน่งเจ้าหน้าที่อารักขาช้างป่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่ได้ลาออกจาก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปิดฉากการทำงานภารกิจดูแลและอารักขาช้างป่ากว่า 20 ปี
ล่าสุด นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เปิดเผยว่า นายสุทธิพร สินค้า ตำแหน่งพนักงานราชการ ได้เกษียณอายุราชการไปตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 แต่เนื่องจากเห็นว่านายสุทธิพรยังสามารถปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเฝ้าระวังผลักดันช้างป่าได้อยู่ จึงมีการจ้างต่อในลักษณะของพนักงานจ้างเหมา (TOR) อย่างไรก็ตาม อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ก็ยังได้รับการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าวิธีการผลักดันช้างป่าของนายสุทธิพรเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม


เนื่องจากวิธีการที่นายสุทธิพรใช้ใน การเฝ้าระวังผลักดันช้างป่า เป็นวิธีการที่เข้าไปผลักดันช้างป่าในระยะกระชั้นชิด บางครั้งก็มีการใช้รถมอเตอร์ไซค์ หรือเดินเข้าไปใกล้ตัวช้างป่า ทำให้มีกลุ่มช่างภาพ ตลอดจนนักท่องเที่ยวรายอื่นๆ ตามเข้าไปถ่ายรูปวิธีการผลักดันช้างป่าของนายสุทธิพร และถ่ายรูปช้างกันเป็นจำนวนมาก อันอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็คือนายสุทธิพร และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่กลุ่มช่างภาพ ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่ตามเข้าไปถ่ายภาพด้วยเช่นกัน โดยมีกรณีร้องเรียนเรื่องดังกล่าวเข้ามาเป็นจำนวนมาก
- ไฮโซปอ แฉ ทนายดัง เรียกเงินฉ่ำ แนะสู้คดีแบบผิดๆ ให้โทษคนบนเรือ!?
- ดราม่าสนั่น! แม่ค้าโต้กลับ ร้านโดนแอบอ้าง ปม ซื้อเค้กแถมจิ้งจก!?
- เจ็บใจสุดๆ! สั่งฟันปลอมออนไลน์ 699 บาท แต่ดันได้มาแค่ของเล่นเด็ก

นายชัยยา กล่าวต่อว่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการเฝ้าระวังผลักดันช้างป่า โดยการเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดสายตรวจส่วนกลาง หรือเจ้าหน้าที่ชุดระวังภัย ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่และยานพาหนะ มีการทำงานเป็นทีมเพื่อเข้าไปผลักดันช้างป่าด้วยวิธีการที่เหมาะสม อันไม่ก่ออันตรายแก่ทั้งเจ้าหน้าที่ ตลอดจนนักท่องเที่ยว
“ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ยังมิได้มีการโยกย้าย นายสุทธิพร ไปปฏิบัติงานที่อื่นตามที่เป็นข่าวแต่ประการใด ทั้งนี้ ล่าสุด นายสุทธิพรได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากการปฏิบัติงานเป็นพนักงานจ้างเหมา (TOR) จากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แล้ว เพื่อไปประกอบอาชีพส่วนตัว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป” นายชัยยา กล่าว
สำหรับนักท่องเที่ยว ที่ขึ้นไปเที่ยวบน อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หากมีกรณีพบเห็นช้างป่าในพื้นที่โซนบริการ หรือบริเวณเส้นทางสัญจร หากยังไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ขอให้สังเกตพฤติกรรมของช้างป่า หากเห็นว่าช้างป่ายังคงหากินตามปกติ ห้ามมิให้มีการหยุดถ่ายรูป หรือสร้างความรำคาญให้กับช้าง หลังจากนั้นให้โทรแจ้งไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เบอร์โทรศัพท์ 08-6092-6529 เพื่อให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ส่งเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังผลักดันช้างป่าเข้าไปดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวด้วยวิธีการที่เหมาะสมต่อไป