วัคซีนโควิด — นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแนวทางพัฒนา ข้อดี-ข้อเสีย ของ วัคซีนโควิด -19
วัคซีนโควิด-19 เมื่อแบ่งเป็นชนิดวัคซีนมี
1 ชนิดเชื้อตาย
มีการผลิตโดยประเทศจีนเป็นวิธีการพัฒนาวัคซีนแบบดั้งเดิมในการทำวัคซีนในอดีต เช่นวัคซีนตับอักเสบ เอ วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด วัคซีนโควิดเชื้อตายต้องอาศัยการเพาะเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก แล้วมาทำลายฤทธิ์ให้ตาย การเพาะเชื้อจำนวนมาก ต้องอาศัยสถานที่โรงงาน ต้องมีความปลอดภัยสูง ผลิตจำนวนมาก จะมีข้อจำกัด ราคาจะแพงแน่นอน ความปลอดภัยคือรู้แน่ว่าไวรัสที่อยู่ในวัคซีนไม่ก่อโรค สามารถให้ได้แม้กระทั่งคนที่มีภูมิต้านทานต่ำเพราะเป็นเชื้อตายไม่ก่อโรค ปัจจุบันวัคซีนนี้ของบริษัท Sinopharm ได้ทำการศึกษาที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) มีประสิทธิภาพในการป้องกันถึงร้อยละ 86 เป็นตัวเลขที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง มีการใช้ในประเทศจีนและได้รับการขึ้นทะเบียนใน UAE แล้ว
2 ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ
คงยาก เพราะเป็นเชื้ออุบัติใหม่ กลไกต่าง ๆ ยังไม่รู้ที่จะทำให้อ่อนฤทธิ์ได้
3 โปรตีนแอนติเจน
ได้จากการสร้างโปรตีนโดยเฉพาะส่วนที่เป็นหนามแหลมยื่นจากตัวไวรัสที่เรียกว่า Spike โดยสามารถให้สิ่งมีชีวิตสร้างขึ้น (Recombinant Protein) เช่นให้แบคทีเรีย ยีสต์ หรือแม้กระทั้ง พืช เช่น ยาสูบ มีการทำวัคซีนและใช้ในมนุษย์ ในขบวนการดังกล่าวเช่น วัคซีนตับอักเสบ บี แต่วัคซีนโควิด อุปสรรคที่จะเกิดขึ้นคือการใช้ Adjuvant (สารเสริมให้กระตุ้นภูมิต้านทาน) ที่ดีที่จะทำให้ภูมิต้านทานสูงจะอยู่ในลิขสิทธิ์ของบริษัทยายักษ์ใหญ่ จะมีอุปสรรคเรื่องขบวนการ Formulation และ Adjuvant มีการศึกษาโดยบริษัทวัคซีนขนาดใหญ่อยู่ขณะนี้ที่เป็นเจ้าของ Adjuvant
4 ไวรัสเวคเตอร์
การใส่ยีนส์ของไวรัสเฉพาะส่วนกระตุ้นภูมิต้านทานใส่เข้าไวรัสอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ก่อโรคในมนุษย์ วัคซีนดังกล่าวมีการผลิตและศึกษาในมนุษย์แล้วเช่น วัคซีนอีโบลา มีการศึกษาวิจัยอยู่ วัคซีนโควิด-19 ที่เราได้ยินไม่ว่าจะเป็นของ AstraZeneca-Oxford วัคซีนของจีนเราก็จะได้ยินบ่อย ข้อดีคือการผลิตได้จำนวนมากอย่างรวดเร็ว ที่จะทำให้ราคาถูกลง และการเก็บใช้อุณหภูมิตู้เย็นธรรมดา เช่นวัคซีนที่ใช้ในเด็ก ประสิทธิภาพที่รายงานออกมายังคงเป็นการรายงานเบื้องต้น คงต้องรอรายงานเมื่อเสร็จสิ้นการศึกษา
5 DNA วัคซีน
มีการศึกษากับมานานกว่า 20 ปี ผลกระตุ้นภูมิต้านทานได้ต่ำ มีกลุ่มวิจัยหลายกลุ่มศึกษา DNA วัคซีนของโควิดอยู่ เพราะ DNA ค่อนข้างมีสภาพคงทนในการเก็บรักษาได้ง่ายและผลิตจำนวนมากได้รวดเร็ว
6 mRNA วัคซีน
เราได้ยินมากคือวัคซีนของ บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ไบโอเอ็นเทค (BioNTech) และวัคซีนของ Moderna โดย mRNA เมื่อเข้าเซลล์ของมนุษย์จะสร้างโปรตีนตามรูปแบบ mRNA ที่กำหนดออกมา กระตุ้นภูมิต้านทาน วัคซีนดังกล่าวกระตุ้นภูมิต้านทานได้สูงมาก และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้สูง
ดังที่ได้เป็นข่าว ในอดีตยังไม่มีวัคซีนที่ผลิตด้วยกระบวนการนี้ใช้ในมนุษย์มาก่อน วัคซีนในกลุ่มนี้จึงจะเป็นวัคซีนแรกที่ใช้ในมนุษย์ RNA ค่อนข้างสลายง่าย การนำเข้าร่างกายต้องถูกหุ้มด้วย Nanolipid เป็นเทคนิคที่ต้องอาศัยโรงงานมาตรฐานและเทคโนโลยี วัคซีนดังกล่าวถึงแม้จะผลิตได้จำนวนมาก ง่าย แต่ขั้นนตอนการให้คงสภาพจำเป็นต้องอาศัยอุณหภูมิที่เย็นจัด -20 ถึง -70 องศาเซลเซียส การนำไปใช้ขบวนการขนส่งจึงเป็นปัญหามาก เนื่องจากวัคซีนนี้ (mRNA) ยังไม่เคยใช้ในมนุษย์มาก่อน กระบวนการขึ้นทะเบียนในภาวะปกติจะช้าอย่างแน่นอนเพราะจะคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย ในปัจจุบันจึงมีการขอขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉิน
สำหรับใครจะเลือกวัคซีนอะไรก็ลองพิจารณาดู
เครดิตภาพ xinhuathai
สธ.เผยควบคุมสถานการณ์โรค โควิด19 กรณี ท่าขี้เหล็ก ได้
สาธิต ยัน! โควิดเชียงใหม่ ปลอดภัย เตียง ยา เวชภัณฑ์พร้อมรับมือ 3 เดือน