ดีเกินคาด! นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. เผย สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นต่อเนื่อง คาดเข้าสู้ “โรคประจำถิ่น” เร็วกว่าเดิมครึ่งเดือน
จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิดในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้เรียกได้ว่ายอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงหลักหมื่นต่อเนื่อง อันเนื่องจากการระบาดของเชื้อโควิดโอมิครอน แต่ในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา ถือว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อลดเหลือหลักพัน จำนวนผู้เสียชีวิตก็ลดลงเช่นเดียวกัน และดูเหมือนว่าการปรับระดับให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น คงไม่ไกลเกินเอื้อม
ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ทางด้านเพจเฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว รายงานว่า นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง น่าจะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ตามกำหนดกว่าครึ่งเดือน จึงให้ทุกหน่วยงานเตรียมวางแผนการดำเนินงานรองรับ โดยเฉพาะเรื่องระบบบริการสาธารณสุข


ขณะนี้สายพันธุ์ ‘โอมิครอน’ มีความรุนแรงลดลงอย่างมาก ความรุนแรงน้อยกว่าโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรือมีอาการคล้ายไข้หวัด ประกอบกับการฉีดวัคซีนโควิด 19 มีความครอบคลุมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ กรมการแพทย์ได้เสนอปรับการดูแลในรูปแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักที่บ้าน (OPSI) ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงอาการรุนแรง จะรักษาแบบผู้ป่วยใน (IPD) ในโรงพยาบาล เน้นการเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิต
- ได้เตรียมพร้อมการดูแลภาวะ ‘ลองโควิด’
- โดยมีการบูรณาการการรักษาภาวะ ‘ลองโควิด’ ไปยังทุกแผนกที่เกี่ยวข้อง มีช่องทางการให้คำปรึกษาส่งต่อระหว่างสถานพยาบาล และเก็บข้อมูลผู้ป่วยภาวะ ‘ลองโควิด’ รายสัปดาห์หรือรายเดือน
- ส่วนมาตรการด้านกฎหมายและสังคม จะมีการปรับให้สอดคล้องเช่นกัน
- การปรับจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง การปรับลดมาตรการต่างๆ ให้สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติภายใต้วิถีชีวิตใหม่
- การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อเข้าไปในสถานที่ปิด ระบายอากาศไม่ดี มีคนรวมตัวกันหนาแน่น ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ มีความใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- การล้างมือบ่อยๆ
- คัดกรองตนเองเมื่อมีความเสี่ยงหรือมีอาการ
ขณะที่สถานประกอบการและกิจการต่างๆ ยังต้องเข้มการจัดการสิ่งแวดล้อม ทำความสะอาด จัดการขยะตามหลักสุขาภิบาล เพื่อให้เป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัย ไม่เฉพาะแค่โรคโควิด 19 แต่ยังรวมถึงโรคอื่นๆ ด้วย
ขอบคุณข้อมูล – สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว