อย่าเพิ่งแชร์ ภาพตำรวจทำร้ายประชาชน อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะเทคโนโลยีภาพชัดอาจทำภาพคลาดเคลื่อนไปจากต้นฉบับ
จากเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้ปรากฎภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่ง ใช้ความรุนแรงกับประชาชนในลักษณะของการเตะซึ่งละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชน และได้มีผู้อยู่ในเหตุการณ์สามารถบันทึกภาพไว้ได้ แต่ภาพหน้าไม่ชัดเจน แต่ได้ใช้เทคโนโลยีที่ช่วยทำให้ภาพชัดขึ้น จนถูกแชร์ต่อไปทั่วโลกออนไลน์
ล่าสุดผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ศิระกร ลำใย ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้ภาพชัดขึ้น ว่าบางเทคโนโลยี ไม่สามารถที่จะให้ภาพที่คมชัดและเทียบกับตัวจริงได้ อาจมีความคลาดเคลื่อนของภาพ โดยได้ระบุข้อความว่า
ภาพใบหน้าตำรวจที่ทำร้ายประชาชนอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด: เทคโนโลยีทำให้ภาพชัดบางเทคโนโลยี อาจทำให้ไม่ได้รูปภาพที่เหมือนต้นฉบับเสมอไป
ช่วงเช้าของวันที่ 1 มีนาคม 2564 ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์แชร์ภาพประกอบสองภาพ ซึ่งเป็นภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุมในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 พร้อมกับภาพระยะใกล้ (close up) ของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งกระทำการรุนแรงดังกล่าว [1]
แม้ว่าจะเห็นชัดว่ามีการใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งไม่มีอาวุธอันเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุและละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน แต่เป็นไปได้ที่ภาพใบหน้าของตำรวจคนดังกล่าวจะเป็นภาพที่ไม่สามารถใช้ในการอ้างอิงเพื่อสืบหาตำรวจผู้กระทำผิดมาลงโทษ เนื่องด้วยเหตุผลต่อไปนี้
หากพิจารณาบริเวณคางและแก้มของตำรวจในภาพ จะพบร่องรอยเสมือนกลุ่มเนื้อซึ่งเกาะตัวกันแบบผิดปกติ สิ่งเจือปน (artifact) ในภาพเหล่านี้อาจบ่งชี้ [2] ว่าภาพใบหน้าภาพนี้เป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นด้วยโปรแกรมสำหรับขยายขนาดภาพ (image upscaling softwares) ซึ่งใช้เทคโนโลยีจำพวกการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) แบบต่างๆ เข้ามาช่วยในการสร้างภาพ
หลักการในการสร้างโปรแกรมลักษณะดังกล่าว หากให้อธิบายโดยง่ายที่สุด คือนำภาพหน้าคนจำนวนมากมาเบลอ แล้วสอนให้โปรแกรมรู้จักคู่ของหน้าคนก่อนและหลังเบลอ เมื่อโปรแกรมเห็นภาพหน้าคนที่เบลอ ก็จะสามารถหยิบรายละเอียดจากภาพหน้าคนที่ชัดที่โปรแกรมเคยเห็นมาก่อนหน้านี้เพื่อเติมลงไปในภาพได้
อย่างไรก็ตาม การที่โปรแกรมหยิบรายละเอียดมาเติมในภาพ ไม่ได้หมายความว่าหน้าตาของบุคคลในภาพหลังจากที่โปรแกรมเติมเข้าไป และหน้าตาของบุคคลจริง จะเหมือนกันทั้งหมด
โปรแกรมจะเติมภาพได้ดีที่สุดเท่ากับภาพทั้งหมดที่โปรแกรมเคยเห็นระหว่างที่มันเรียน ในบางกรณีโปรแกรมอาจจะเติมภาพได้ไม่ถูกต้องแม้แต่น้อย เช่นในงานวิจัยโครงข่ายประสาทเทียม PULSE [3] สำหรับการเติมรายละเอียดใบหน้าให้ชัดเจน มีผู้ค้นพบว่า PULSE เติมใบหน้าของบารัก โอบาม่า ด้วยเอกลักษณ์และโครงหน้าของผู้ชายผิวขาว [4] ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้โดยง่ายผ่านการที่โปรแกรมไม่ได้เรียนรู้ลักษณะของใบหน้าคนที่หลากหลายมากพอ
แม้เทคโนโลยีจำนวนมากอาจทำหน้าที่เหมือนช่วยเหลือในการสืบหาความจริงจากหลักฐานที่มีจำกัด ผู้ใช้ควรตระหนักถึงข้อจำกัดและข้อควรระวังเมื่อใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์ที่มากที่สุด
อ้างอิงข้อมูล
- [1] https://www.facebook.com/kibkae.ja/posts/10159249051683872
- [2] https://kcimc.medium.com/how-to-recognize-fake-ai…
- [3] https://github.com/adamian98/pulse
- [4] https://twitter.com/Chicken3gg/status/1274314622447820801
ข่าวที่น่าสนใจ
หุบเสือโหน่ง ประกาศปิด เหตุ นักท่องเที่ยวมั่วยา เจ้าหน้าที่คุมไม่ได้
โปรดเกล้าฯ เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “ปลอดประสพ สุรัสวดี”
สาว แอร์โฮสเตส โพสต์เตือนภัย หวิดโดนข่มขืน กลางลานจอดรถ ตลาดเรียบด่วน