ไลน์แมน ต่างจังหวัด ลุกขึ้นประท้วง เพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย หลังบริษัทลดค่าวิ่งต่อรอบ จากเดิม 40 บาท ปัจจุบันเหลือเพียง 24 บาท!
ต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ไรเดอร์ของบริษัท LINEMAN จากจังหวัดอยุธยา อ่างทอง และสิงห์บุรี เดินทางเข้ากรุงเทพมหานครมารวมตัวยังอาคาร T-One ถนนสุขุมวิท ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยภายหลังบริษัทประกาศเปลี่ยนแปลงค่าตอบแทนต่อรอบวิ่งของไรเดอร์ต่างจังหวัดลง โดยไรเดอร์สะท้อนว่าที่ผ่านมาบริษัทปรับลดค่ารอบมาแล้วมากกว่า 1 ครั้ง เช่น อยุธยา เดิม 40 บาท เหลือ 35 และ 30 บาทตามลำดับ ปัจจุบันเหลือเพียง 24 บาท
หลังจากนั้นวันที่ 2 มิถุนายน บริษัทได้ตอบผ่านเพจทางการ LINE MAN Rider เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. เวลาประมาณ 16:00 น. โดยชี้แจงข้อเรียกร้องต่างๆ แต่กลับไม่มีการพูดถึงข้อเรียกร้องเรื่องค่ารอบ ที่ไรเดอร์มองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
นำมาสู่ความเคลื่อนไหวอีกครั้งในการชุมนุมใหญ่ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อยืนกรานให้บริษัทตอบสนองข้อเรียกร้อง 2 ข้อ ได้แก่
- 1) ค่าตอบแทนต่างจังหวัดต้องไม่ต่ำกว่า 40 บาทต่อ 2 กิโลเมตรแรก (ระยะทางที่เกินมาให้บวก 8 บาท/กม. ตามอัตราเดิมของบริษัท) และ
- 2) หากบริษัทต้องการรับไรเดอร์ใหม่มาเพิ่ม จะต้องปรึกษาให้ไรเดอร์เดิมเห็นชอบก่อน เพราะการรับคนเพิ่มมีผลกระทบกับไรเดอร์ทุกคน สุดท้ายบริษัทจึงยอมตอบรับว่าไม่สามารถปรับราคาทุกจังหวัดขึ้นเป็น 40 บาทได้ แต่จะปรับราคารายจังหวัดขึ้นเป็นราคาก่อนที่จะมีการปรับลดครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. แทน

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทได้มีการตอบรับแต่ไม่ตอบสนองข้อเรียกร้อง นี้เองทำให้ไรเดอร์หลายพื้นที่ยังไม่พอใจ นำมาสู่การชุมนุมย่อยต่อเนื่องอีกหลายครั้ง ที่น่าจับตามองคือจังหวัดชลบุรี ที่จัดการชมุนุมภายในจังหวัดตั้งแต่วันที่ 1-2 มิ.ย. คู่ขนานกันไปกับที่กรุงเทพ ส่งคนเข้าร่วมการชุมนุมที่กรุงเทพในวันที่ 4 มิ.ย.
หลังจากนั้นก็มีประกาศขอความร่วมมือไรเดอร์ให้หยุดรับงานพร้อมกันอย่างต่อเนื่องในวันที่ 14 มิ.ย. ตั้งแต่เวลา 17:00-19:00 น., วันที่ 15 มิ.ย. ตั้งแต่เวลา 17:00-20:00 น., นัดยกระดับการชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ #ชลบุรีจะไม่ทน ในวันที่ 20 มิ.ย. รวมถึงล่าสุดก็ได้นัดหยุดรับงานตลอดทั้งวันในวันถัดไป 21 มิ.ย. ด้วย เพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อบริษัทให้ยอมรับข้อเรียกร้องเรื่องราคาค่ารอบสุทธิต้องไม่ต่ำกว่า 40 บาท

ที่มาและรูปภาพจาก : สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม Just Economy and Labor Institute