หมอมนูญ ชี้แจง ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ไวรัสโควิด-19 ว่าไม่สามารถแพร่กระจายผ่านอากาศได้ แนะให้อยู่ในที่โล่งและมีอากาศถ่ายเท
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ หมอมนูญ หรือ นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC เกี่ยวกับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่คนไทยเข้าใจผิด โดยระบุว่า
เวลาผ่านไปปีเศษตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดูเหมือนคนไทยยังสับสนกับวิธีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแล้วว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถแพร่กระจายผ่านอากาศได้ (airborne)ในไทยกลับกลายเป็นข้อมูลเท็จ (ดูรูป)
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาหรือ CDC ให้คำแนะนำป้องกันการติดเชื้อผ่านอากาศ นอกจากการใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างแล้ว ยังแนะนำให้อยู่ในที่กลางแจ้ง (outdoor) ที่โล่ง มีลมพัด มีแสงแดด มากกว่าที่ในร่ม (indoor) หลีกเลี่ยงสถานที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ อากาศเย็น ถ่ายเทไม่ดี มีคนอยู่กันอย่างแออัด แนะนำการระบายอากาศในอาคาร (Ventilation) ด้วยการติดพัดลมดูดอากาศออก และติดพัดลมดูดอากาศเข้าพร้อมแผงกรองอากาศ ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ (Hepa filter) หรือติดตั้งรังสียูวี C เหนือศีรษะฉายเฉพาะด้านบนของห้อง (UVGI) เพื่อฆ่าเชื้อโรคในอากาศ หรือปิดแอร์แล้วเปิดหน้าต่างแทนถ้าทำได้ ทั้งหมดนี้ทำเพื่อลดจำนวนเชื้อไวรัสที่แขวนลอยในอากาศในห้องนั้นให้น้อยลงเร็วที่สุด (ดูรูป)
นอกจากนี้บางหน่วยงานของไทยยังเน้นป้องกันการติดเชื้อผ่านทางสัมผัสมากเกินไป นำไปสู่การปฏิบัติที่สิ้นเปลือง เสียเงิน เสียเวลา และอาจเกิดอันตรายได้ เช่นการทำบิ๊กคลีนนิ่ง เจ้าหน้าที่ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบนพื้นที่ทั้งใน นอกอาคาร และบนตัวคน ให้คนเข้าอุโมงค์สเปรย์พ่นยาฆ่าเชื้อ จริงๆแล้วการล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลก่อนเอามือมาแคะจมูก ขยี้ตา และการเช็ดถูทำความสะอาดจุดที่คนสัมผัสบ่อยๆเช่น ลูกบิดประตู ปุ่มกดลิฟต์ ราวบันได โต๊ะ เก้าอี้เป็นต้น โดยใช้น้ำเปล่าผสมน้ำสบู่ ผงซักฟอก หรือ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคที่ไม่ทำลายพื้นผิวก็เพียงพอแล้ว
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์วิธีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 (ดูรูป)
ดังนี้:
วิธีที่ 1 เป็นวิธีที่แพร่กระจายบ่อยที่สุด โดยผ่านทางหยดละออง (droplets) เวลาผู้ติดเชื้อพูด ไอ จาม เชื้อไวรัสอยู่ในหยดละออง ลอยออกมาในอากาศช่วงเวลาสั้นๆ ลอยเข้าทางจมูก เยื่อบุตาของคนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อในระยะ 1-2 เมตร ก่อนตกลงบนพื้น
วิธีที่ 2 แพร่กระจายผ่านอากาศ (airborne) พบได้ทั้งในโรงพยาบาลเวลาดูดเสมหะ พ่นยา ใส่ท่อหายใจ และนอกโรงพยาบาล พบได้น้อยกว่าวิธีแรก ในบางสถานการณ์เชื้อไวรัสอยู่ในละอองฝอย (aerosol) แพร่กระจายผ่านอากาศ ไกลกว่า 2 เมตร แขวนลอยในอากาศเป็นชั่วโมง เวลาผู้ติดเชื้อไอ จาม ร้องเพลง ตะโกน ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ คนรวมตัวกันมากๆ คนติดเชื้ออาจออกจากสถานที่นั้นไปแล้ว แต่เชื้อไวรัสยังแขวนลอยอยู่ คนที่อยู่ห่างออกไปเกิน 2 เมตร หายใจเชื้อไวรัสเข้าทางเดินหายใจ วิธีนี้เกิดขึ้นในสนามมวยลุมพินีเมื่อปีที่แล้ว ทำให้คนที่มาชมมวยวันนั้น ติดเชื้อพร้อมกันมากกว่า 50 คน
วิธีที่ 3 ผ่านทางพื้นผิว โดยผู้ติดเชื้อเอามือที่ปิดปากเวลาไอ จาม หลังสั่งน้ำมูก แล้วเอามือนั้นไปสัมผัสกับพื้นผิว เช่นลูกบิดประตู ปุ่มกดลิฟต์ ราวบันได และผู้ติดเชื้อไอ จาม หยดละอองมีน้ำหนักตกลงบนพื้นผิวเช่นโต๊ะ เก้าอี้ หลังจากนั้นคนทั่วไปเอามือสัมผัสพื้นผิว แล้วเอามือที่เปื้อนเชื้อไวรัสมาขยี้ตา แคะจมูก เชื้อไวรัสเข้าเยื่อบุตา จมูก วิธีที่ไวรัสกระจายผ่านทางพื้นผิว ติดต่อทางอ้อมในชีวิตจริงพบน้อยกว่า 2 วิธีแรกมากๆ เพราะเชื้อไวรัสตายเองเร็วมากหลังออกจากร่างกายของผู้ติดเชื้อ


ข่าวที่น่าสนใจ
หมอมนูญ แนะ!ไทยรอสั่ง วัคซีนโควิด ครอบคลุมสายพันธุ์ใหม่
อ.ษัษฐรัมย์ จากมธ.เสนอนัด หยุดงานประท้วง ทั่วประเทศ แบบเมียนมา ต่อสู้อำนาจเผด็จการ