หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและผู้เลี้ยงกุ้งในหลาย ๆ จังหวัด มาวันนี้เจออีกครั้งที่ชายหาดละแม จ.ชุมพร โดยนักศึกษาหนุ่มรายหนึ่งแจ้งให้ทางคณะประมง ม.แม่โจ้ และให้ชาวประมงรับทราบต่อไป
“ปลาเอเลี่ยน” หรือปลาหมอคางดำ ที่ นายศุภณัฐ พรหมมาลี อายุ 22 ปี นักศึกษาคณะประมงชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตชุมพร เจอเมื่อวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ระหว่างเดินเล่นอยู่ริมชายหาดละแม สังเกตให้ดีจะพบว่าลักษณะคล้ายปลาหมอเทศแต่เป็นปลาน้ำจืดจึงรู้ทันทีว่าปลาชนิดนี้คือ “ปลาเอเลี่ยน” หรือปลาหมอคางดำ ที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ หนุ่มคนนี้จึงเอาสวิงซ้อนจับขึ้นมาได้ 2-3 ตัวก่อนจะนำไปใส่ขวดแก้วบรรจุน้ำจืด โดยปลาหมอคางดำมีชีวิตอยู่ได้
ร่วม 1 วัน ต่างจากปลาอื่น ๆ ถ้าเจอน้ำจืดจะตายทันทีเนื่องจากเหงือกแตก สำหรับ ปลาหมอคางดำ เป็นปลาในแถบทวีปแอฟริกาที่มีอันตรายต่อสัตว์น้ำชายฝั่งทุกชนิดถึงขนาดสูญพันธุ์ได้ วงการประมงจะเรียกปลาเหล่านี้ว่า “เอเลี่ยนสปีชี่ส์” ก่อนกลับไปตรวจสอบแนวชายฝั่งอีกครั้งร่วม 2 กิโลเมตร และเห็นด้วยตาว่ามีปลาหมอคางดำนับพัน ๆ ตัว
นายศุภณัฐ เปิดเผยว่า ได้ติดตามการแพร่ระบาดของปลาชนิดนี้อย่างต่อเนื่องจนทราบว่าเป็นอันตรายต่ออาชีพประมงชายฝั่งใน จ.ชุมพร หลังจากพบการระบาดของปลาชนิดนี้ในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา เมื่อเวลาผ่านไปข่าวก็เงียบแต่คาดไม่ถึงว่าจะพบปลาหมอคางดำในพื้นที่ อ.ละแม ซึ่งห่างจากพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม กว่า 500 กิโลเมตร สำหรับปลาหมอคางดำจะแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วนับแสนตัว เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของชายฝั่งทะเลอ่าวไทย แต่สัตว์น้ำชายฝั่งจะสูญหายหมด เนื่องจากปลาหมอคางดำจะกินตัวอ่อนสัตว์น้ำทุกชนิด
สำหรับปลาหมอคางดำ หรือปลาเอเลี่ยน นำเข้ามาโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหารรายหนึ่ง เพื่อหวังจะให้เป็นแหล่งอาหารของคนไทย แต่ปรากฏว่าเนื้อปลาหมอคางดำเนื้อแข็งหยาบและมีเนื้อน้อยกว่าก้าง คาดว่า บริษัทดังกล่าวต้องการทำลายแต่หลุดลอดลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่งผลต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก อีกทั้งในช่วงนี้ ยังมีชาวประมงบอกว่าสัตว์น้ำในธรรมชาติมีน้อยมากทั้ง ๆ ที่อนุรักษ์และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงไปในทะเลนับล้าน ๆ ตัวแต่ไม่รู้หายไปไหนหมด จับได้แต่ปลาหมอคางดำซึ่งขายไม่ได้เลย
เบื้องต้น นักศึกษาหนุ่มรายนี้ได้แจ้งต่ออาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป ขณะเดียวกัน ก็จะนำเรื่องราวดังกล่าวไปโพสต์ในโซเชียลมีเดียเพื่อเตือนชาวประมงในพื้นที่รับทราบและช่วยกันทำลาย