ยามที่ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” เสด็จพระราชดำเนินเพื่อเยี่ยมเยือนพสกนิกรในพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะในท้องถิ่นห่างไกล หรือทุรกันดารเพียงใด ภาพที่ประชาชนเห็นจนคุ้นตาและประทับอยู่ในความทรงจำของพสกนิกรชาวไทย คือ ภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมของใช้ส่วนพระองค์ที่มักติดพระวรกายเป็นประจำ เพื่อทรงใช้เป็นเครื่องมือในการทรงงาน นำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนไทยทุกพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั่นเอง
แผนที่
ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จฯ ไปที่ไหน “แผนที่” เป็นสิ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 จะทรงนำติดพระวรกายไปด้วยเสมอ พระองค์เป็นผู้ประดิษฐ์แผนที่ขนาดใหญ่ด้วยพระองค์เอง โดยมีมาตราส่วน 1 : 50,000 พระองค์ทรงนำแผนที่หลายแผ่นมาต่อเข้าด้วยกัน ขนาดถึง 9 แผ่น แล้วทรงพับให้เหลือขนาดที่ทรงพกพาได้ เพื่อสามารถคลี่ทรงงานได้ทันที ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าถึง “แผนที่ของในหลวงรัชกาลที่ 9” ไว้ในรายการวิทยุ “พูดจาภาษาช่าง” ทางสถานีวิทยุจุฬาฯ ตอนหนึ่งว่า “ทุกครั้งก่อนที่จะเสด็จฯไปไหน พระองค์ท่านจะทรงเตรียมทำแผนที่และศึกษาแผนที่นั้นโดยละเอียด แล้วเมื่อเสด็จฯ ไปถึง พระองค์ท่านจะทรงสอบถามชาวบ้านว่าสถานที่นั้นอยู่ที่ไหน ทิศเหนือมีอะไร ทิศใต้มีอะไร ถามหลายๆคน แล้วตรวจสอบไปมา ระหว่างที่ถามนั้นดูจากแผนที่ว่าแผนที่อันนั้นถูกต้องดีหรือไม่ น้ำไหลจากไหนไปที่ไหน” ทั้งหมดนี้เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรนั่นเอง
วิทยุสื่อสาร
วิทยุสื่อสาร ของใช้อีกหนึ่งชิ้นที่พระองค์ทรงพกติดพระวรกายไว้เสมอ พระองค์ทรงศึกษา ค้นคว้า ทดลอง ทรงตรวจซ่อมและปรับแต่งเครื่องวิทยุสื่อสารที่ใช้ทรงงานด้วยพระองค์เอง ทั้งพระองค์ทรงตอบเหตุผลของการมีเครื่องรับ – ส่งสัญญาณวิทยุจำนวนมากในวิดีโอสัมภาษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชชุด Soul of a Nation ว่า เพื่อใช้ติดตามข่าวสารภัยพิบัติต่าง ๆ เผื่อครั้งที่จำเป็นจะได้ทรงเข้าไปแนะนำช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที โดยมีรหัสสัญญาณเรียกขานประจำพระองค์ว่า VR 009, กส. 9, น. 9, เดโชชัย 1
กล้องถ่ายรูป
กล้องถ่ายรูป เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เราคุ้นตากันอยู่เสมอ พระองค์ทรงพกกล้องถ่ายรูปติดพระวรกายไปในพระราชกรณียกิจต่าง ๆ อยู่เสมอ เพื่อนำมาพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยของพระองค์ ดั่งพระราชดำริของพระองค์ “การถ่ายรูปเป็นงานศิลปะ เป็นของดีมีประโยชน์ ขออย่าให้ถ่ายรูปเพื่อความสนุกสนานหรือความสวยงามเท่านั้น จงใช้ภาพให้เกิดคุณค่าต่อสังคม ให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม งานศิลปะจะช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อีกแรงหนึ่ง”
ดินสอ
สิ่งของเล็ก ๆ ชิ้นสุดท้ายอย่างดินสอทรงงาน ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึง “ความพอเพียงและความประหยัดอดออม” ที่พระองค์ทรงเป็นแบบให้กับปวงชนชาวไทย โดยมีบันทึกว่าในปีหนึ่งพระองค์จะทรงเบิกดินสอที่มียางลบติดท้ายแท่ง เพียงแค่ 12 แท่งเท่านั้น โดยใช้เดือนละ 1 แท่ง จนกระทั่งดินสอแท่งนั้นกุดจนเขียนไม่ได้แล้วจึงเปลี่ยน พระองค์ท่านโปรดการใช้ดินสอในการทรงงานมากกว่าการใช้ปากกา เพียงเพราะทรงเห็นว่าดินสอราคาถูกและผลิตได้ในประเทศ อีกทั้งเมื่อผิดก็สามารถลบออกได้ง่าย
ตลอด 7 ทศวรรษภาพของพระองค์ท่านกับสิ่งของข้างพระวรกายที่ใช้ทรงงานเหล่านี้ เกิดเป็นภาพที่คุ้นตาพสกนิกรชาวไทยทุกคนเป็นอย่างดี พระองค์ท่านทรงงานหนักเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทรงมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้บรรเทาลงหรือ หมดสิ้นไป ทุกสิ่งล้วนเพื่อพสกนิกรของพระองค์
ขอขอบคุณรูปภาพจาก คุณนภันต์ เสวิกุล
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช