เข้าขั้นวิกฤต! อหิวาตกโรค ระบาดหนัก ยอดผู้ติดเชื้อ-เสียชีวิตพุ่ง รุนแรงสุดในรอบ 10 ปี WHO ประกาศยกระดับ เป็น ‘ภาวะฉุกเฉินระดับสูงสุด’
วันที่ 30 ธันวาคม 2567 นางมาร์กาเร็ต แฮร์ริส โฆษกองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า การระบาดของโรคอหิวาตกโรคครั้งนี้เป็น “ภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่” ที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน โดยเน้นการรณรงค์ฉีดวัคซีนและการปรับปรุงระบบน้ำและสุขอนามัยทั่วโลก

แม้จะมีความก้าวหน้าในการควบคุมโรคอหิวาตกโรคมาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ แต่ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยกลับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง แม้แต่ในประเทศที่ไม่พบการระบาดของโรคนี้มานานหลายปี รายงานจากปี 2022 พบว่า มี 44 ประเทศที่รายงานผู้ป่วยโรคอหิวาตกโรค เพิ่มขึ้นจาก 35 ประเทศในปี 2021 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 25% แนวโน้มดังกล่าวยังคงเพิ่มสูงขึ้นในปี 2023 โดยมีอัตราการเสียชีวิตพุ่งสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ
- ด่วน ไทยพบผู้ติดเชื้อ ‘อหิวาตกโรค’ เพิ่มเป็น 4 ราย ยันยังคุมโรคได้
- เข้าไทยแล้ว! ‘อหิวาตกโรค’ พบผู้ป่วย 2 ราย ชาย-หญิงชาวเมียนมา
- ท้องเสีย ถ่ายเหลว ต้องระวัง! อหิวาตกโรค โรคเก่าแต่ยังอันตราย
แฮร์ริสเปิดเผยกับสำนักข่าว “ซีจีทีเอ็น” ของจีนว่า การกลับมาระบาดของโรคนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากระบบน้ำและสุขอนามัยที่ไม่เพียงพอในหลายประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและทรัพยากรที่จำกัด เมื่อเดือนมกราคม 2566 องค์การอนามัยโลกได้จัดให้การระบาดของโรคอหิวาตกโรคทั่วโลก ซึ่งเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2564 เป็น “ภาวะฉุกเฉินระดับ 3” ซึ่งเป็นระดับสูงสุด
แม้ว่าแคมเปญฉีดวัคซีนจะช่วยควบคุมการแพร่ระบาดได้ในบางส่วน แต่ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ แฮร์ริสเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้มั่นใจว่ามีระบบน้ำและสุขาภิบาลที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการหยุดยั้งการแพร่ระบาด
ทั้งนี้ โรคอหิวาตกโรคเกิดจากแบคทีเรีย ไวบริโอ โคเลอแร (Vibrio cholerae) ซึ่งแพร่กระจายผ่านอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการบริโภคอาหารที่สะอาดและสุขอนามัยที่เหมาะสม แม้ว่าจะมีความเสี่ยงถึงแก่ชีวิตหากไม่ได้รับการรักษา แต่การรักษาอย่างทันท่วงทีสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ