จัดการยังไง!? ปลาหมอคางดำ ยังไม่ไปไหน ล่าสุดลามไปตราด รวม 20 จังหวัดทั่วไทย ซ้ำร้าย ขยายพันธุ์ไปประเทศเพื่อนบ้าน
จากกรณีการระบาดอย่างหนักของ ปลาหมอคางดำ หลายหมื่นตัวตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมปี 2567 ที่ผ่านมา โดยได้มีชาวบ้านจำนวนมาก พยายามที่จะลดการขยายพันธุ์ของปลาสายพันธุ์นี้ โดยการจับ ปลาหมอคางดำ เพื่อป้องกันไม่ให้มันกลับลงทะเลไปได้ เพราะเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ หวั่นสัตว์น้ำสูญพันธุ์ ซึ่งถึงแม้จะผ่านมาหลายเดือน และประเด็นดังกล่าวเริ่มเงียบลง แต่กลับมีชาวบ้านบางกลุ่มที่ยังได้รับความเดือดร้อนจากปลาหมอคางดำอยู่
ล่าสุดวันที่ 10 ก.พ. 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี ได้มีการประกาศ จาก กระทรวงเกษตรฯ ห้ามครอบครอง ปลาหมอคางดำ และประกาศกรมประมงกำหนดเขตพื้นที่แพร่ระบาด 19 จังหวัด เพื่อประโยชน์ในการป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ จึงสมควรกำหนดชนิดสัตว์น้ำบางชนิดที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง
ทางด้านชาวบ้าน ได้มีการถ่ายภาพปลาหมอคางดำ จับได้ที่ปากคลองท่าน้ำ ต.แหลมกลัด จ.ตราด โดย เจ้าหน้าที่มูลนิธิการพัฒนาที่ยั่งยืน แจ้งว่า “เจอที่ปากคลองท่าน้ำ ต.แหลมกลัด จ.ตราด ผู้ใหญ่บ้านแจ้งประมงจังหวัดมาสุ่ม ไม่เจอ แต่ปรากฏว่ามันกระโดดขึ้นเรือชาวบ้าน ประมงกำลังจะสุ่มทอดแหคลองใกล้เคียง และที่คลองประทุนชาวบ้านพบลักษณะใกล้เคียงแต่เป็นตัวเล็ก ๆ จับไม่ได้”

สำหรับพื้นที่ที่พบปลาหมอคางดำแพร่ระบาด ได้แก่
1.จันทบุรี 2.ระยอง 3.ฉะเชิงเทรา 4.สมุทรปราการ 5.นนทบุรี 6.กรุงเทพมหานคร 7.นครปฐม 8.ราชบุรี 9.สมุทรสาคร 10.สมุทรสงคราม 11.เพชรบุรี 12.ประจวบคีรีขันธ์ 13.ชุมพร 14.สุราษฎร์ธานี 15.นครศรีธรรมราช 16.สงขลา 17.ชลบุรี 18.พัทลุง 19.ปราจีนบุรี และจังหวัดที่ 20. ได้แก่ ตราด และกำลังจะเตรียมข้ามเขตชายแดนไปยังประเทศกัมพูชา