ย้อนเส้นทางชีวิต ‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตผบ.ตร. สุดพลิกผัน ยิ่งกว่าแมว 9 ชีวิต ก่อนถูกปิดตำนาน ให้ออกราชการ
หลังจากที่ วานนี้ (13 พ.ย.) พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล หรือ บิ๊กโจ๊ก อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนว่า เป็นคำสั่งที่ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” หลังจากได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) แล้วคณะกรรมการ ก.พ.ค.ตร. มีมติยกคำร้องอุทธรณ์ โดยเป็นการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ตามสิทธิทางกฎหมาย
ต่อมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีมติยกคำร้องคดีหมายเลขดำที่ ฟ.117/2567 ของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ โดยชี้ว่า คำสั่งให้ออกราชการนั้นชอบแล้ว ส่งผลให้พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ยังไม่สามารถกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งรอง ผบ.ตร.เหมือนเดิมได้ นั้น ทำให้บิ๊กโจ๊กหลุดจากเก้าอี้ ผบ.ตร. โดยแท้จริง
การมีมติจากศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้ ถือเป็นจุดพลิกผันอีกจุดหนึ่งของ วันนี้ ไบร์ททีวี จะพาไปย้อนเส้นทางชีวิตของ บิ๊กโจ๊ก ที่เรียกได้ว่ายิ่งกว่าแมว 9 ชีวิตกันค่ะ

สำหรับ บิ๊กโจ๊ก มีชื่อจริงว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เกิดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2513 ที่ที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ปัจจุบันอายุ 54 ปี เป็นบุตรของดาบตำรวจ ไสว หักพาล และนางสุมิตรา หักพาล สมรสกับ ดร.ศิรินัดดา (สกุลเดิม พานิชพงษ์)
ประวัติการศึกษาบิ๊กโจ๊ก
- นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 31 ได้รับการจารึกชื่อในป้ายทอง เป็นนักเรียนเตรียมทหารที่มีความประพฤติและการกีฬายอดเยี่ยมประจำปีการศึกษา พ.ศ. 2532 เคยติดทีมชาติเทนนิสรุ่นเยาวชน และนำทีมสถาบันชนะเลิศกีฬา 4 เหล่าทัพ
- ปริญญาตรี สำเร็จการศึกษา คณะรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต โรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 47
- ปริญญาโท สำเร็จการศึกษา คณะสังคมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม (สศ.ม.) มหาวิทยาลัยมหิดล
- ปริญญาเอก สำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล

บิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เริ่มรับราชการตำรวจ ในปี 2537 ตำแหน่งรองสารวัตร จนได้รับการแต่งตั้งเลื่อนขั้นเป็นลำดับ ดังนี้
- ปี 2543 สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 4 กองกำกับการ 5 จ.เชียงใหม่
- ปี 2545 สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 3 จ.ชลบุรี
- ปี 2546 ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ
- ปี 2547 ผู้ช่วยนายเวรตำรวจราชสำนักประจำให้กับ พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี
- หลังจากได้รับการเลื่อนขั้นเป็น พ.ต.อ. ได้รับตำแหน่งผู้กำกับการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่อำนวยการประจำผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- ปี 2552 เป็นผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์
- ปี 2554 เป็นผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 10 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล
- ปี 2555 เป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จนได้เลื่อนขึ้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.สงขลา และทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการณ์ตำรวจภูธร จ.สงขลาส่วนหน้า รับผิดชอบพื้นที่ 4 อำเภอ ใน จ.สงขลา ที่เป็น “พื้นที่สีแดง” เสี่ยงต่อภัยความไม่สงบบริเวณชายแดนภาคใต้
- ปี 2558 เป็นผู้บังคับการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานงานกับนายกรัฐมนตรี รายงานต่อ พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น
- ปี 2558 เป็นผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว
- ปี 2559 เป็นผู้บังคับการตำรวจสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ
- ปี 2560 รักษาการรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว จนได้เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

เส้นทางชีวิต สุดพลิกผัน และจุดจบ
อย่างไรก็ตาม ชีวิตราชการของ บิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ไม่ได้ราบรื่น เพราะเขาเจอมรสุมชีวิตมากมาย เรียกได้ว่าทำเอาชีวิตพลิกพลันไปหลายตลบ โดยเมื่อปี 2552 บิ๊กโจ๊ก เกือบต้อง จบชีวิตราชการ เพราะ ณ เวลานั้น บิ๊กโจ๊ก ทำงานใกล้ชิดกับ พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี โดยตำแหน่งนี้เทียบเท่ารองผู้กำกับการ
และ เมื่อ พล.ต.อ. วิเชียรถูกโยกพ้นนายตำรวจราชสำนักประจำมาประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) อย่างเงียบ ๆ หลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 สุรเชษฐ์ “บิ๊กโจ๊ก” ก็ติดตามมา เมื่อ พล.ต.อ. วิเชียรเคลียร์ปัญหาในอดีตจบสิ้น ได้โอกาสเข้าตำแหน่งเป็นรอง ผบ.ตร. เขาก็ทำหน้าที่ผู้ช่วยนายเวร โดยนายเวร พล.ต.อ. วิเชียรในขณะนั้นเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นพี่ 1 ปี คือ พล.ต.ต. อาชยน ไกรทอง ผู้ที่ต่อมากลายเป็นลูกน้องคู่ใจของสุรเชษฐ์ เพราะเขาผงาดเป็นนายพล และหนีบ พล.ต.ต. อาชยนตามไปเกือบทุกที่ โดยเฉพาะที่ตำรวจท่องเที่ยวและตรวจคนเข้าเมือง
ช่วงอยู่กับ พล.ต.อ. วิเชียร ผู้ต่อมากลายเป็น ผบ.ตร. ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “บิ๊กโจ๊ก” สุรเชษฐ์ เริ่มออกจากผู้กำกับประจำสำนักงาน ไปนั่งผู้กำกับการหลายที่ ตำแหน่งที่สำคัญที่เขาอาจจะต้องจำไปชั่วชีวิตก็คือ ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในปี 2552 เพราะเขาเกือบเอาชีวิตราชการไปทิ้งไว้ที่นั่น เพราะถูกนายเขตสยาม เนาวรังสี นักธุรกิจร้านอาหารใน อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ร้องเรียนว่าเรียกรับผลประโยชน์ จนถูก พล.ต.อ. วิเชียรสั่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง จนเกือบถูกออกจากราชการ แต่ “บิ๊กโจ๊ก” ก็ชนะทุกข้อกล่าวหา
ต่อมา ในปี 2560 ชื่อของ “บิ๊กโจ๊ก” ซึ่งอาวุโสอยู่ในลำดับที่ 76 ได้รับการเสนอชื่อจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ขึ้นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และโยกมานั่งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และในที่สุดขยับขึ้นมานั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นผู้บัญชาการอายุน้อย ติดยศ “พล.ต.ท.” ด้วยวัยเพียง 48 ปี เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการสีกากีเมืองไทย

ใน ปี 2562 วันที่ 5 เม.ย. 2562 ช่วงเวลาแห่งการโดนดอง : มีคำสั่งฟ้าผ่า จาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ “บิ๊กโจ๊ก” ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางตำแหน่งเดิม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติมอบหมาย เป็นที่รู้กันดีในแวดวงสีกากี คำสั่งนี้ คือการดอง
นอกจากนี้ วันที่ 9 เม.ย. 2562 มีคำสั่งฟ้าผ่าที่สอง จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ให้ “บิ๊กโจ๊ก” ขาดจากตำแหน่งหน้าที่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อโอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทนักบริหารระดับสูง ในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และถูกเพิ่มรายชื่อในบัญชีเพื่อได้รับการตรวจสอบจาก ป.ป.ช. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เนื่องด้วยมีมูล ถูกกล่าวหา เกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
ไม่จบเพียงเท่านี้ ในปี 2563 วันที่ 6 ม.ค. 2563 รถยนต์ส่วนตัวของบิ๊กโจ๊ก ถูกยิง สื่อหลายแห่งตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ยิงรถบิ๊กโจ๊กครั้งนี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับการที่บิ๊กโจ๊ก ออกมาเปิดโปงการทุจริต โครงการจัดซื้อจัดจ้างรถตรวจการณ์ไฟฟ้า ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ครั้งนั้น มีคลิปเสียงหลุด ที่อ้างว่าเป็น พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา สั่งยิง จนถูกสำรองราชการ

บิ๊กโจ๊ก สุรเชษฐ์ กลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ใน ปี 2564 ในตำแหน่งหลักผู้ช่วย ผบ.ตร. แต่บทบาทไม่พุ่งแรงแบบสมัยรุ่งๆ เช่นเดิม แต่ถึงกระนั้น ยังมีขวากหนามคอยขวางกั้น หลัง พ.ต.อ.กฤษณะพงศ์ กัญจน์ชัยกิจ รองผู้บังคับการกองร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ได้ยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอให้ทำการทบทวนสำนวนการสืบข้อเท็จจริง คดีเรียกรับเงินจากนายเขตสยาม เมื่อกว่า 12 ปีก่อน ก่อนที่ท้ายสุด นายเขตสยามได้กลับคำให้การ และต่อมา 26 พ.ค. 2565 นายเขตสยามได้เสียชีวิตลง
ปี 2566 ชีวิตของบิ๊กโจ๊ก จึงเริ่มขยับขยาย ทำผลงานอีกครั้ง โดยเฉพาะคดี “กำนันนก” สั่งยิง “ตำรวจทางหลวง” ที่เขาออกตัวทำคดีอย่างเต็มตัว แต่สุดท้ายฟ้าผ่าอีกครั้ง เมื่อ ผบ.ตร. มีคำสั่งให้โอนคดีกำนันนก ไปให้กองปราบรับช่วงต่อแทน
และสุดท้ายในปี 2024 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงนามคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ “บิ๊กโจ๊ก” รองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) พร้อมลูกน้องอีก 4 นาย ออกจากราชการไว้ก่อน หลังจากถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง และศาลอนุมัติหมายจับคดีฟอกเงินเว็บพนันออนไลน์ นับเป็นความพลิกผันในชีวิตราชการครั้งสุดท้ายของเขา