โกลาหล! โรงงานน้ำแข็งปัตตานี แก๊สแอมโมเนียรั่ว พนักงานเจ็บ 18 ราย ผู้ว่าฯ เร่งสั่งตรวจสอบ ที่อื่นทั่วจังหวัด
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 เวลาประมาณ 09.00 น. ผู้กำกับสภ.เมืองปัตตานี ได้รับแจ้งเกิดเหตุ ก๊าซแอมโมเนียรั่ว ภายในพื้นที่บริษัทผลิตน้ำแข็งหลอด ซอฟา ตำบลตะลุโบะ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ส่งผลให้ มีกลิ่นแอมโมเนีย กระจายไปทั่วพื้นที่ หลังรับแจ้งจึงประสานเจ้าหน้าที่ดับเพลิง พร้อมนำกำลังเข้าตรวจสอบ

บริเวณที่เกิดเหตุภายในอาคารโรงน้ำแข็งมีก๊าซแอมโมเนียรั่วเป็นจำนวนมาก กระจายออกทั่วพื้นที่ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง จึงนำรถ 3 คัน ฉีดน้ำเพื่อป้องกันกลิ่นสารเคมีไม่ให้ลอยฟุ้งในอากาศร่วมถึงทำให้ก๊าซเจือจางลง ก่อนส่งเจ้าหน้าที่ใช้ชุดอ็อกซิเจนเข้าไปปิดอุปกรณ์ควบคุมภายในอาคาร
ปรากฏว่าขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังระงับเหตุอยู่นั้น ได้มีเจ้าหน้าที่เป็นจำนวนมาก มีอาการ มึนศีรษะ หายใจขัดข้อง แสบตา บางรายถึงกับอาเจียน ทำให้เจ้าหน้าที่จึงประสานกู้ชีพ กู้ภัย อ.เมือง ทั้งหมด ทั้งเทศบาลเมืองปัตตานี,ต.ตะลุโบะ, ต.รูสะมิแลและ รถกู้ชีพ กู้ภัย อบจ. ร่วมถึงรถโรงพยาบาล รวมจำนวน 10 คัน เข้ามารับส่งผู้บาดเจ็บไปยัง โรงพยาบาลปัตตานี ล่าสุดมีเจ้าหน้าที่ และพนักงานโรงน้ำแข็งได้รับบาดเจ็บรวม 18 ราย โดยทุกคนมีอาการมึนศีรษะ แสบตา หายใจไม่ออก บางรายมีอาการอาเจียน แพทย์เร่งนำตัวส่งโรงพยาบาลปัตตานีทันที

จากการสอบถามพนักงานทราบว่า โรงงานดังกล่าว อยู่ระหว่างทำการตรวจสอบโรงงานและในขณะที่พนักงานเข้าไปตรวจสอบบริเวณถังที่กักเก็บก๊าซ ปรากฎว่ามีเหล็กตกลงมาไปทับท่อก๊าซแอมโมเนียแตก จนทำให้ก๊าซรั่วออกมาเป็นจำนวนมาก ก๊าซฟุ้งไปทั่ว ทุกคนที่อยู่ภายในอาคารต่างรีบวิ่งหนีออกมาทันที ก่อนประสานเจ้าหน้าที่เข้ามาระงับเหตุดังกล่าว
ด้านนางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้รุดลงพื้นที่เข้าตรวจสอบ พร้อมตั้งกองอำนวยการประสานงานในการดูแลประชาชนในพื้นที่ โดยมีการใช้รถกระจายเสียงประกาศประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ รีบสวมหน้ากากอนามัยทันที พร้อมสั่งห้ามเข้าไปยังจุดเกิดเหตุ รวมไปถึง โรงเรียนต่างๆ ศูนย์เด็กเล็ก ให้มีการปิดชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียน
โดยหลังเกิดเหตุพ่อแม่เด็กต่างเดินทางมารับลูกพากลับบ้านทันที อีกทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้กำชับไปยังสาธารณสุข และโรงพยาบาลปัตตานี นำเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสภาพร่างของประชาชนที่อยู่ในรัศมีใกล้เคียง อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ได้ปิดกั้นพื้นที่และทำการตรวจสอบ เพื่อหาสาเหตุอย่างละเอียดในเหตุการณ์ครั้งนี้ต่อไป

สำหรับโรงน้ำแข็งที่จะต้องใช้ก๊าซแอมโมเนียในจังหวัดปัตตานี มีจำนวน 20 กว่าแห่ง ที่ผ่านมาก็มีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันอยู่ 2-3 ครั้ง ซึ่งเรามีการตรวจติดตามโรงงาน มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยจะเข้าไปดูกระบวนการ เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆในการทำงานของพนักงานในโรงงาน การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนในชุมชน ร่วมถึงการฝึกการเผชิญเหตุกรณีลักษณะนี้ว่าเราจะต้องทำอย่างไรต่อไป