พร้อมกันทั่วประเทศ! จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม พร้อมกัน 878 แห่งทั่วประเทศ ในกทม. 50 เขต สถานกงสุลไทยในต่างประเทศ 94 แห่ง
วันนี้ (21 ม.ค. 2568) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้เตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกสำหรับการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่จะเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศในวันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคมนี้ โดยยึดหลักการเสมอภาคและเท่าเทียม ภายใต้แนวคิด “สมรสเท่าเทียม ยินดีกับทุกความรัก”
นายคารม ระบุว่า กรมการปกครองในฐานะนายทะเบียนกลาง ได้ซักซ้อมการปฏิบัติร่วมกับสำนักทะเบียนและอำเภอทั้ง 878 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร 50 เขต และสถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ 94 แห่ง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น โดยมีการเตรียมความพร้อมใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่

- คอนเฟิร์ม! สมรสเท่าเทียม บังคับใช้ 22 ม.ค. 68 เตรียมจดทะเบียนวันแรก
- ปชช. รวมตัวประท้วง ต้านสมรสเท่าเทียม LGBTQ+ กลางกรุงโซล
- น้ำตาตก! “ทรัมป์” ลงนามยกเลิกสนับสนุน LGBTQ+ รับแค่ ชาย-หญิง
ด้านระเบียบ
มีการร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2568 เพื่อรองรับการจดทะเบียนสมรสระหว่างบุคคลเพศหลากหลาย ทำให้คู่รักสามารถหมั้นและสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว ด้านระบบ ปรับปรุงระบบทะเบียนสมรสและทะเบียนหย่า พร้อมทดสอบระบบเรียบร้อยแล้ว รวมถึงจัดเตรียมใบสำคัญการสมรส (คร.3) และใบสำคัญการหย่า (คร.7) เพื่อรองรับการให้บริการที่เพิ่มขึ้น

ด้านบุคลากร จัดอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทะเบียนใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การปรับทัศนคติในการให้บริการประชาชน และการบริการที่เป็นสากล โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และมารยาทสากล ด้านการจัดกิจกรรม จัดกิจกรรม “Kick Off” ในวันนี้ และกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในวันที่ 23 มกราคม ณ ที่ว่าการอำเภอ 878 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเฉลิมฉลองการมีผลบังคับใช้ของกฎหมายสมรสเท่าเทียม

การดำเนินการดังกล่าวยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในระดับนานาชาติ ในฐานะประเทศที่ยอมรับและเคารพสิทธิมนุษยชน รวมถึงสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ กรมการปกครองขอเชิญชวนคู่รักทุกคู่เข้ารับบริการจดทะเบียนสมรสได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ และสำนักงานเขตทุกแห่งทั่วประเทศ พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประวัติศาสตร์เพื่อความเสมอภาคในสังคมไทย