พญ.เบญจพร ตันตสูติ ส่งข้อความถึง นายกฯ-รมว.สธ. เรื่องยาสมาธิสั้นขาดคราว กระทบต่อเด็กนักเรียน และสังคมเป็นอย่างมาก
เมื่อวานที่ 5 มกราคม 2568 ผู้ใช้เฟซบุ๊ก เข็นเด็กขึ้นภูเขา ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึง นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากเป็นห่วงคนไข้ที่ที่จำเป็นต้องกินยา แต่ยาขาดคราว (ขาดคราวเป็นศัพท์ที่ใช้เวลายาขาดไม่มีให้สั่งจ่ายเป็นคราว ๆ ไป)
โดยทาง พญ.เบญจพร ตันตสูติ (หมอมินบานเย็น) ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ได้ระบุว่า เนื่องด้วยที่ผ่านมาในประเทศไทย บรรดาแพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วยที่เป็นสมาธิสั้น โดยเฉพาะจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น พบปัญหายาสมาธิสั้น Methylphenidate ในรูปแบบต่างๆ ขาดคราวค่อนข้างบ่อย ทำให้ไม่มียาสั่งจ่ายในการรักษาให้คนไข้ ส่งผลกระทบตามมาถึงตัวคนไข้ ซึ่งส่วนมากเป็นเด็ก รวมถึงครอบครัวด้วย
โรคสมาธิสั้นนั้นเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยผลสำรวจจากกรมสุขภาพจิตพบว่าในกลุ่มเด็กไทยที่กำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 -6 ที่มีจำนวนประมาณ 5 ล้านคน พบว่าเป็นโรคสมาธิสั้นร้อยละ 6.5 คาดว่าจะมีเด็กไทยป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 310,000 ราย
แม้ชื่อจะบอกว่าเป็นสมาธิที่สั้น แต่จริงๆ เป็นโรคที่ส่งผลต่อการควบคุมตัวเอง (Self-control) ด้านต่าง ๆ ทั้งสมาธิ คำพูด การกระทำ อารมณ์ ฯลฯ ดังนั้นหากไม่รักษาหรือรักษาได้ไม่ต่อเนื่องจะส่งผลกระทบไม่เพียงแค่ไม่มีสมาธิในการเรียน หรือมีปัญหาการเรียน ตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่อาจมีปัญหาอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเรียน เช่น การควบคุมอารมณ์ มีใจร้อน หงุดหงิด รอคอยไม่ได้ มีปัญหาเวลาอยู่กับคนอื่นๆ เพราะควบคุมคำพูดและการกระทำไม่ได้ เช่น มีพูดโพล่ง พูดแทรก ไม่คิดก่อนทำ หุนหันพลันแล่น บางทีเด็กอาจถูกเพื่อนแกล้ง หรือไปแหย่เพื่อน ถูกครู/ครอบครัว ตำหนิ ไม่เป็นที่ยอมรับในกลุ่ม สุดท้ายส่งผลถึงความภาคภูมิใจในตัวเอง มีปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ตามมาทั้งตอนที่เป็นเด็กและเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

- ทำจริง! ทรัมป์ ลงนามสั่งห้ามนักกีฬาข้ามเพศ แข่งขันกีฬาผู้หญิง
- รักแบบใด? แม่วัยใสจับลูกวัย 1 ขวบ โยนทุ่มใส่แคร่ไม้ ลั่น เกิดมาให้กูเจ็บกี
- หวิดดับ! รถตู้รับส่งนักเรียนกว่า 20 คน เสียหลักตกข้างทาง บาดเจ็บอื้อ
การรักษาที่เป็นที่ยอมรับทางการวิชาการในเคสที่ได้รับการวินิจฉัยคือการรักษาด้วยยาที่ได้ผลดีคือ Methylphenidate ซึ่งคือยากำลังเป็นปัญหาขาดคราวบ่อย ๆ เนื่องจาก Methylphenidate เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 (กลุ่มเดียวกันกับ pseudoephedrine ฯลฯ) สถานพยาบาลไม่สามารถสั่งยาโดยตรงจากบริษัทยาได้ ต้องสั่งผ่าน อ.ย. ตรงนี้เป็นที่เข้าใจได้ แต่ด้วยปัญหาบางอย่างที่เรื้อรังมานานหลายปี ทำให้เกิดปัญหายาขาดคราวบ่อยๆ เกิดเหตุการณ์ ยาไม่เพียงพอสำหรับความต้องการของคนไข้ โดยปีหนึ่งๆ เกิดเหตุการณ์ขาดยาหลายรอบ
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เด็กๆ และคนไข้ที่เป็นโรคสมาธิสั้นและกินยาอยู่ (เวลากินยาก็ต้องกินยาติดต่อเนื่องเพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น) ไม่มียากินกะทันหัน พอจะมารับยาก็ผิดหวังกลับบ้านเพราะหมอบอกว่า “ยาหมดนะ ไว้ค่อยมาใหม่อีกทีตอนที่ยามาแล้วนะคะ”
เด็ก ๆ ที่เป็นสมาธิสั้นเมื่อไม่ได้กินยาก็เกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นไม่มีสมาธิตอนเรียน ทำให้จดงานไม่ทัน คะแนนตก มีปัญหาพฤติกรรมเพราะควบคุมตัวเองไม่ได้ คิดไม่ทันก่อนที่จะทำหรือพูด เช่น พูดแหย่เพื่อน แกล้งเพื่อน ทำให้เพื่อนไม่ยอมรับ เพื่อนแกล้งมากขึ้น ที่บ้านก็มีปัญหาขาดระบบระเบียบ และมีอารมณ์หงุดหงิด ใจร้อน ทะเลาะกับพ่อแม่มากขึ้น กลายเป็นปัญหาครอบครัว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เมื่อเด็กไม่ได้กินยา

มีคำกล่าวว่า ‘เด็กคืออนาคตของชาติ’ ปัญหานี้จึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะส่งผลกระทบลามไปไม่เพียงตัวเด็ก แต่กับครอบครัว โรงเรียน และสังคมประเทศชาติโดยรวม
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้วยสาเหตุอะไรใด ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหายาขาดคราวขึ้น หมอขออนุญาตวอนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ อ.ย. รวมถึงการเขียนจดหมายเปิดผนึกนี้ที่ส่งผ่านไปยังผู้บังคับบัญชา คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านเป็นผู้ดูแลทุกข์สุขของประชาชนไทย ด้วยความหวังอย่างยิ่งว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขที่เป็นรูปธรรม นำไปสู่การทำให้ปัญหายาสมาธิสั้นขาดคราว ซึ่งเกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน ให้หมดไปจากประเทศไทยในที่สุด
หมายเหตุ หากเห็นด้วยรบกวนช่วยกันแชร์โพสต์นี้เป็นสาธารณะให้ด้วยค่ะ เพื่อความหวังว่าจะมีผลตอบรับที่ทำให้นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ดีขึ้น