สสส. ร่วม มสส. เปิดผลสำรวจสุขภาพสื่อไทยปี 67 พบป่วยโรค NCDs ร้อยละ 80 เหล้า-บุหรี่-กัญชา เป็นสาเหตุหลัก ห่วงปี 68 ฟองสบู่สื่อออนไลน์ใกล้แตก
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) จัดการประชุมโฟกัส กรุ๊ป “ความเสี่ยงและสุขภาวะสื่อมวลชนไทย ปี 2567” ณ โรงแรมอวานี รัชดา กรุงเทพฯ โดยมี นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน สสส. กล่าวเปิดงาน
การประชุมครั้งนี้ได้รวบรวมตัวแทนสื่อมวลชน 36 คน เพื่อนำเสนอผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาวะของสื่อมวลชน และประมวลสภาพการทำงานที่กระทบต่อสุขภาวะในปี 2567 เพื่อวางแนวทางการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในปี 2568

- เปิดผลโหวต นักการเมืองแห่งปี 2567 “นายกอุ๊งอิ๊ง” ฮอตเกินต้าน คว้าอันดับ 1
- โวยหนัก! ชาวบ้านขอรับเงินเยียวยา น้ำท่วมนครศรีฯ ต้องมีรูปหลักฐานโชว์
- ระทึก! ชายคลั่งยา พยายามเปิดประตูฉุกเฉินบนเครื่องบิน ทำวุ่นทั้งลำ
นายวิเชษฐ์ กล่าวว่า สถานการณ์การทำงานของสื่อเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะข้อมูลการเลิกจ้างพนักงานในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 พบว่ามีธุรกิจสื่อปลดพนักงานไม่ต่ำกว่า 300 คน แม้จะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย แต่การขาดงานใหม่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมในระยะยาว สื่อออนไลน์ที่ล้นตลาดบางส่วนปรับลดขนาดองค์กร ทำให้สื่อทำงานหนักขึ้น ไม่มีค่าล่วงเวลาหรือวันหยุด ส่งผลให้เกิดความเครียด และอาจประสบความยากลำบากในปีหน้า ปัญหาเหล่านี้ไม่ต่างจากสื่อกระแสหลัก เสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่สื่อออนไลน์แตกในปี 2568
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่อาจอนุญาตให้มีเครื่องจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อัตโนมัติ ร่างกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่อาจอนุญาตให้นำเข้าและจำหน่ายอย่างถูกกฎหมาย และร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา ที่อาจปลดล็อกการจำหน่ายอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ส่งผลให้สื่อต้องเผชิญกับความเครียดทวีคูณจากทั้งปัญหาสุขภาพส่วนตัวและปัญหาสังคม

ด้าน รศ.ดร.ณัฐนันท์ ศิริเจริญ เลขาธิการมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ กล่าวเพิ่มเติมถึงผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาวะของสื่อมวลชนไทยปี 2567 จากกลุ่มตัวอย่าง 372 คน พบว่า 44.09% ทำงาน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน แต่มีถึง 8.60% ที่ทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน และ 89.25% มีวันหยุดน้อยกว่า 2 วันต่อสัปดาห์ ส่งผลให้เกิดความเครียด 69.90% และมีโรคประจำตัว 56.99% โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) สูงถึง 77.58% จึงเสนอแนะให้ผู้บริหารองค์กรสื่อให้ความสำคัญกับการป้องกันปัญหาสุขภาพของบุคลากรอย่างเร่งด่วน และผลักดันมาตรการป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว
โรค NCDs หรือ non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค และไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งจะมีการดำเนินโรคอย่างช้า ๆ ค่อย ๆ สะสมอาการอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีอาการของโรคแล้วมักจะเกิดการเรื้อรังของโรคด้วย จึงอาจจัดว่าโรค NCDs เป็นกลุ่มโรคเรื้อรังได้
ตัวอย่างของโรค NCDs ได้แก่ โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคมะเร็งต่าง ๆ โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง โรคอ้วนลงพุง